การเสนอขายหุ้นกู้มีประกันบางส่วนตามโครงการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ.2540 และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นด้วยกระแสรายรับจากสิทธิเรียกร้องในค่างวดตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยของบริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ บตท. (9) จำกัด ครั้งที่ 1/2559 ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2564
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (“บตท.” หรือ “SMC”) รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า "บริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ บตท. (9) จำกัด (ซึ่ง บตท. ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน) ได้มีการออกหุ้นกู้ใหม่ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) มูลค่ารวม6,000 ล้านบาท ให้กับผู้ลงทุนสถาบันและ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเป็นหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มีประกันบางส่วน (บตท. ค้ำประกันหุ้นกู้ 90%) และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หุ้นกู้ดังกล่าวมีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.24% ต่อปี โดยผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระดอกเบี้ยพร้อมกับทยอยได้รับชำระคืนเงินต้นทุกเดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AA- โดย บจก. ทริสเรทติ้ง ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้จัดว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน สามารถพัฒนาโครงสร้างของโครงการให้ก้าวเข้าสู่สากลมากขึ้น และยังสอดคล้องกับพันธกิจองค์กร โดย บตท. ได้แต่งตั้งให้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้"
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายทิตวัฒน์ อัศเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) และนายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีมตลาดตราสารหนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "การเสนอขายหุ้นกู้ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ของบตท. ซึ่งปัจจุบันเป็นรายเดียวในตลาดที่มีการเสนอขายหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว โดยการเสนอขายครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทั้งในด้านมูลค่าเสนอขายสูงสุดนับตั้งแต่ บตท. ดำเนินการระดมทุนผ่านโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2545 รวมถึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้ำประกัน ตามที่ บตท. มีความมุ่งหวังว่าจะพัฒนารูปแบบของตราสารให้เข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในความเสี่ยงของนัก
ลงทุนต่อตราสาร Securitization ที่ดีขึ้น และเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้ การได้มูลค่ารวมสูงถึง 6,000 ล้านบาท ท่ามกลางความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศนับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในตลาดปัจจุบันสำหรับหุ้นกู้ securitization รุ่นอายุ 5 ปี โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นตราสารที่ซับซ้อนกว่าหุ้นกู้ปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม การเสนอขายในครั้งนี้สามารถเพิ่มฐานของนักลงทุนทั้งในส่วนสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ โดยมีทั้งฐานนักลงทุนเดิมที่เคยลงทุนในตราสารของบตท.อยู่แล้ว รวมถึงนักลงทุนสถาบันที่ยังไม่เคยลงทุนในตราสารประเภทนี้มาก่อน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อบตท. และคาดว่า บตท. จะสามารถระดมทุนโดยตราสาร securitization ได้อย่างประสบความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต"