นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ซึ่งพบว่าสมุนไพรเป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุสั้น ใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย ประกอบกับมีแหล่งรับซื้อในพื้นที่ ตลาดมีความต้องการผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ ได้แก่ เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว และญี่ปุ่น
ขณะที่ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการเพาะปลูกสมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งสมุนไพรที่น่าสนใจและสามารถสร้างกำไรให้เกษตรกรคือ ลูกยอ ดอกอัญชัน ตะไคร้ใบและขมิ้นชัน โดยแหล่งผลิตกระจายอยู่ในพื้นที่ ทั้ง 6 จังหวัด พบมากที่สุดในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดตาก เกษตรกรมีการปลูกแบบรายเดียวและรวมกลุ่มผลิต ลักษณะการปลูกแบบสวนเกษตรผสมผสาน มีเนื้อที่ปลูกไม่เกิน 1 ไร่/ครัวเรือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญผลผลิตส่วนใหญ่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่งจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่รับบริการด้วยการแพทย์ผสมผสาน นอกจากนี้ ยังจำหน่ายผ่านบริษัท ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป รวมไปถึงการส่งออกตลาดต่างประเทศ