ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น การเร่งตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK และการมีระบบรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งสามารถตัดวงจรการติดเชื้อได้มากขึ้น ส่งผลให้ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ค่อยๆ ลดลงอย่างแบบค่อยเป็นคอยไป
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประชาชนเริ่มมีความเข้าใจในหลักการของการทำ Home Isolation (HI) และการเข้าระบบ Community Isolation (CI) มากขึ้น และเข้าถึงระบบการรักษารวดเร็วขึ้นด้วย
1.จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้อัตราเริ่มคงที่ ตัวเลขอยู่ประมาณ 4,000 รายต่อวัน
2.การฉีดวัคซีนที่เริ่มฉีดได้เพิ่มขึ้น และมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกมากขึ้น ซึ่งในอนาคตหากมีประชาชนได้รับวัคซีนไปตามเป้าหมาย อาจจะทำแบบในต่างประเทศ ที่จะมีการกำหนดเป็นวันฟรีดอม เดย์
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการจัดสรรวัคซีนนั้น โฆษก กทม.กล่าวว่า เบื้องต้นในเดือนกันยายน ประชาชนกรุงเทพฯ จะมีการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า และได้รับแจ้งจาก ศบค.ว่า ถ้าประเทศไทยมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีก จะมีการส่งมอบให้ กทม.เพิ่มอีก แต่ขณะนี้ในเบื้องต้นจะขอส่งไปให้จังหวัดปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ฯลฯ และต่างจังหวัดที่ยังได้วัคซีนจำนวนน้อยไปก่อน
ในส่วนของวัคซีนทางเลือก ที่ กทม.เคยแจ้งว่ามีการพิจารณาจัดซื้อนั้น ขณะนี้ยังยืนยันว่า กทม.จะซื้อทุกยี่ห้อที่สามารถซื้อได้ เพราะมีงบประมาณ แต่เบื้องต้น กทม.ได้รับจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นทั้งซิโนแวค แอสตร้าฯ และไฟเซอร์
ขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มียอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในส่วนของประชากรที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ และประชากรแฝง 7.7 ล้านคน แล้ว ดังนี้
เข็มที่ 1 จำนวน 6,717,824 คน คิดเป็นร้อยละ 87
เข็มที่ 2 จำนวน 1,591,453 คน คิดเป็นร้อยละ 27
ร.ต.อ.พงศกร ยังกล่าวถึงการนำรถฉีดวัคซีนถึงบ้าน (BKK Mobile Vaccination Unit: BMV) หรือ รถโมบายวัคซีนมาให้บริการประชาชน ว่า โครงการนี้เป็นนโนบายของผู้ว่าฯ กทม.ที่สั่งการเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ให้หาวิธีการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด กทม.จึงร่วมกับภาคเอกชนดำเนินการดัดแปลงรถโมบายวัคซีนโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปฉีดวัคซีนได้ง่ายขึ้น คาดว่าสัปดาห์หน้าจะนำไปใช้บริการได้
โดยกลุ่มแรกคือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค คนเร่ร่อน เป็นต้น ที่จะเข้าไปในชุมชน เช่น ถนนสิบสามห้าง สวนลุมพินี เป็นต้น เพื่อเก็บตกประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยขณะนี้ได้ดัดแปลงรถต้นแบบ 1 คัน หากใช้ได้ผลดีในอนาคตจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก
ด้าน นพ.สุขสันต์ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกนั้น ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการสั่งจองซื้อวัคซีนโมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม แต่ยังไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว โดยในระหว่าง กทม.จะดำเนินการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ไปก่อน เมื่อวัคซีนทางเลือกมาถึง ก็จะมีการเพิ่มศักยภาพการฉีดได้มากขึ้น