แบงก์ชาติ ชี้ภาคธุรกิจไทยยังน่าห่วง หลังการฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำ แม้รัฐปลดล็อกคุมโควิด-19 ระบุหากระบาดยังยืดเยื้อ ผู้ประกอบการเดินหน้าลดค่าใช้จ่าย-เบรกลงทุนประคองตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ส.ค. 2564 พบว่า การฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดบางส่วน อาทิ การเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสำหรับขายแบบเดลิเวอรี่ การเปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และผ่อนคลายการเดินทางข้ามจังหวัดของแรงงาน แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงกดดันการฟื้นตัวในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต
ด้านการผลิต ยังคงเผชิญกับการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน และการปิดโรงงานของคู่ค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบกับระดับการผลิตในภาพรวม ขณะที่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ผ่อนคลายจากเดือนก่อนเล็กน้อย
ทั้งนี้ ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นบ้าง ตามแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่ ส่วนภาคการค้ามีการจ้างแรงงานลดลง ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับลดลงเล็กน้อย สอดคล้องกับการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน และให้ใช้วันลาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิตที่ระดับการใช้นโยบายข้างต้นกลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในเดือน เม.ย. 2563
ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต อาทิ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารและธุรกิจก่อสร้าง โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกในเดือน เม.ย. 2563 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าครึ่งหนึ่งมีความเชื่อมั่นลดลงมาก ตามด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า ส่วนความเชื่อมั่นด้านรายได้ของภาคการผลิตดีกว่าภาคที่ไม่ใช่การผลิต จากการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ ธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัว โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 58.3% เลือกการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ด้านแรงงาน ขณะที่อีก 51.7% เลือกที่จะชะลอการลงทุน และอีก 34.7% เลือกลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง 26.9% เลือกหารายได้จากช่องทางอื่น และผู้ตอบแบบสอบถามอีก 5.8% เลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราว หรือปิดสาขา
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) ในเดือน ส.ค. 2564 พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นเล็กน้อยทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังภาครัฐผ่อนปรนเงื่อนไขของร้านอาหารให้สามารถใช้ครัวในการประกอบอาหารแบบเดลิเวอรี่ได้ แต่หากการแพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อและมาตรการควบคุมที่เข้มงวด จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก
โดยความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้น กทม. และปริมณฑล รวมถึงภาคใต้ ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากสัญญาณการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดแบบเข้มงวด และการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทุกประเภทร้านค้าในภาวะปัจจุบันปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายเงื่อนไขการให้บริการเดลิเวอรี่ ส่วนความเชื่อมั่นต่อยอดสาขาเดิม (SSSG) ยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per bill) และความถี่ของผู้ใช้บริการ (Frequency) ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน หลังผ่อนคลายมาตรการให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าใช้ครัวได้
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีการประเมินกำลังซื้อของผู้บริโภคว่าจะยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าบ้าง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่รุนแรง ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อและรายได้ภาคครัวเรือน ขณะที่การประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเชื่อมั่นด้านรายได้ลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรง เมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์เมื่อเดือน เม.ย. 2563 และ 44% มีสภาพคล่องไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า