นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากที่มาตรการการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิดสิ้นสุดลงคาดว่าจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ ในหลายมาตรการของธนาคารระยะ ที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่หรือกว่า 90% มีเครดิตต่ำ เช่น การปล่อยสินเชื่อกู้ภัย โควิด-19 รายละ 1 หมื่นบาท จำนวน 8 แสนราย โดยจำนวนดังกล่าวมีเพียง 7% เท่านั้น ที่ใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามปกติ
ส่วนที่เหลืออีก 93% เป็นการปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนปรนหรือสินเชื่อเสริมพลังฐานรากรายละ 3-5 หมื่นบาท จำนวน 3-4 แสนราย ที่ปล่อยผ่าน MyMo มีเพียง 25% ที่เข้าเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ที่ออมสินสามารถปล่อยสินเชื่อได้ เพราะรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนกรณีเกิดหนี้เสีย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่่าบริหารจัดการได้ เพราะธนาคารแข็งแกร่ง และคาดว่าหลังโควิดคลี่คลาย ลูกหนี้รายย่อยดังกล่าวจะเริ่มดีขึ้นและกลับมาชำระหนี้เป็นปกติได้ภายในระยะเวลา 3 ปี
นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างรุนแรง ทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคบริการของประเทศ ที่ต้องอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในแต่ละปี 40 ล้านคน แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ทำให้นักท่องเที่ยว ต่างชาติหายไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อ การจ้างงานในภาคบริการ ตั้งแต่โรงแรมที่พัก จนถึงร้านอาหาร และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย
สำหรับเอ็นพีแอลปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไรก็ตาม หลังจากพ้นระยะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้วภายในสิ้นปีนี้ อาจมีลูกหนี้รายบางไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ และกลายเป็นหนี้เสียแต่เชื่อว่าระดับสูงสุดของหนี้เสียของธนาคารสูงสุดจะ ไม่เกิน 3.5% ซึ่งยังถือว่าเป็นระดับที่บริหารจัดการได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดธนาคารออมสินได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น หนี้เสียโดยชะลอการฟ้องร้องตามกฎหมาย สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียก่อน1 ส.ค.นี้ โดยจะชะลอการฟ้องตั้งแต่ 2 ก.ย.จนถึง 31 ธ.ค.นี้ เพื่อลดแรงกดดันให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ที่มีประมาณ 4 หมื่นราย
ธนาคารจึงขอแนะนำให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โปรดติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้