พลันที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เมื่อ 27 ธันวาคม 59 เห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 (Development Plan of International Navigation on the Lancang- Mekong River: 2015 – 2025) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ระหว่าง 4 ประเทศ (สาธารณรัฐประชาชนจีน, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สหภาพเมียนมา และประเทศไทย) โดยมอบหมายให้กรมเจ้าท่าเป็นหน่วยประสานงานด้านการศึกษา สำรวจ และออกแบบ ซึ่งต่อมาได้มีกลุ่มอนุรักษ์หลายองค์กรออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าโครงการนี้จะไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวีถีชีวิตของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง เพราะจะต้องมีการระเบิดแก่งหินและขยายร่องน้ำ เพื่อให้สามารถรองรับการเดินเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาเทียบท่าเมืองเชียงของ จังหวัดเชียงราย
เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน “อปท.นิวส์” จึงขอหยิบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบอีกด้านหนึ่ง จากฝากฝั่งของหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ของสาธารณะรัฐประชาชนจีน
เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา บรรดาสื่อมวลชนจากประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการบริหาร นสพ.ฐานเศรษฐกิจ และนายกสมาคมผู้สื่อข่าว ไทย-จีน, นางสาวฐิตาภา ทรงเผ่า บรรณาธิการข่าว หน้า 1 นสพ.ไทยรัฐ และเลขานุการสมาคมผู้สื่อข่าว ไทย-จีน, นายชาญวิทยา ชัยกูล บรรณาธิการบริหาร อปท.นิวส์, นายโสภณ องค์การณ์ บรรณาธิการและผู้ดำเนินรายการอาวุโส ค่าย ASTV, นายจีระวัฒน์ สุขานนท์ ผู้สื่อข่าว นสพ.เดลินิวส์, นางสาวผกามาศ สหดิฏฐกุล บรรณาธิการข่าว และนายสุจินต์ ทองน้อย ช่างภาพ จากสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์, ได้ไปเยือนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ตามคำเชิญของสถานทูตจีนประจำประเทศไทย โดยมี Mr.yanyan รองผู้อำนวยการฝ่ายสารนิเทศ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ร่วมเดินทางไปด้วย
หลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ แล้ว ได้มีโอกาสพบปะและร่วมประชุมกับผู้บริหารภาครัฐของมณฑลยูนนาน ณ โรงแรม ZhongWei Kunming Green Lake Hotel เมืองคุนหมิง ประเด็นหนึ่งที่คณะผู้สื่อข่าวไทยให้ความสนใจมากคือ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ ระหว่างไทย-จีน เนื่องจากเห็นว่าความสัมพันธ์ด้านการทูต การค้า การลงทุน ระหว่างไทย-จีน ในยุคนี้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากรู้ว่า โครงการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง เชื่อมโยง 4 ประเทศ มีความคืบหน้า หรือมีอุปสรรคปัญหาอย่างไร หลังจากที่ได้มีข้อตกลงร่วมกันนานมากแล้ว
Mr.Wang Wai รองอธิบดีสำนักงานต่างประเทศมณฑลยูนนาน กล่าวว่า มนฑลยูนนานมีประชากรประมาณ 47 ล้านคน มีการพัฒนาในด้านต่างๆ รวดเร็วยิ่ง โดยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีละประมาณ 8.7 % ด้วยเหตุนี้จึงมีนักธุรกิจและนักลงทุนจากประเทศไทยจำนวนมากได้เข้าไปลงทุนที่มณฑลยูนนาน และมีนักเรียนไทยไปเดินทางเข้าไปเรียนอยู่ที่ยูนนาน ประมาณ 2 พันคน ขณะที่คนจีนจากยูนนานได้เดินทางเข้ามาเรียนที่ประเทศไทย ประมาณ 5 พันคน อีกทั้งมูลค่าการซื้อขายสินค้าระหว่างไทยจีน เพิ่มมากขึ้นทุกปี ชาวยูนนานเองก็ให้ความนิยมในสินค้าและผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก
แต่เนื่องจากมณฑลยูนนานมีภูมิประเทศ 94% เป็นภูเขา และการค้าระหว่างไทย-จีน และประเทศเพื่อนบ้านมีการขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยและยูนนาน จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว ระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เส้นทางเชื่อมต่อทางบก (เส้นทาง R3A) ขณะนี้ทางการจีนได้สร้างถนนแบบซุปเปอร์ไฮเวย์ แบบ 4 เลน ลงมาใกล้ชายแดนไทยและลาวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือระยะทางอีกประมาณ 180 กิโลเมตรเท่านั้น ที่ยังเป็นถนนธรรมดา ไม่ได้เป็นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เนื่องจากอยู่ในเขตพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ ทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนยังไม่ค่อยจะราบรื่นนัก นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องกฎระเบียบ และข้อบังคับบางอย่างที่จะต้องแก้ไข และจากความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา
ส่วนเรื่องการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางน้ำ (แม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง) มีความคืบหน้าไปบ้าง ปัจจุบันสามารถเดินเรือท่องเที่ยวและเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กระหว่างไทย-จีน ได้เป็นบางช่วงฤดูกาล เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ยังไม่สามารถใช้เส้นทางขนส่งในแม่น้ำโขงได้ เนื่องจากร่องน้ำทางฝั่งไทยยังตื้นเขิน
เรื่องนี้ Mrs.Li Fei รอง ผู้อำนวยการสำนักงานแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลยูนนาน กล่าวว่า หลังจากที่ไทยและจีนได้ตกลงความร่วมมือกันที่จะพัฒนาเส้นทางขนส่ง แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงแล้ว ทางฝ่ายจีนได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะการขนส่งสินค้าทางเรือนั้นจะสะดวกและประหยัดกว่าการขนส่งทางบก หรือทางอากาศ ดังนั้นฝ่ายจีนจึงได้เร่งดำเนินการขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำล้านช้าง เพื่อขยายเส้นทางเดินเรือให้เรือใหญ่สัญจรไปมาได้ แต่ทุกวันนี้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ยังไม่สามารถข้ามไปมากับฝั่งไทยได้ เพราะแม่น้ำโขงในเขตไทยยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไร ทำให้โครงการนี้ยังคงชะงักงัน ทั้งๆ ที่ ได้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับให้กู้ยืม เพื่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-จีน-ลาว ไว้แล้ว จำนวน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ดังนั้น โครงการการพัฒนาระบบคมนาคมทางบกและทางน้ำ เพื่อขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน ระหว่างไทย-จีนและประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงการเดินเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง จะเดินหน้าไปได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยจะสามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้โครงการนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไร ?!