นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สธ. ได้พูดคุยหารือเรื่องยาต้านโควิดมาโดยตลอด
สำหรับยาต้านโควิด “โมลนูพิราเวียร์” โดยเมิร์ค (Merck) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีฤทธิ์ยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อโควิด โดยจากการวิจัยแบบสุ่มระยะที่ 3 ในรูปแบบ MOVe-OUT-Trial ในกลุ่มผู้ป่วยอาการเล็กน้อย-ปานกลาง มีปัจจัยเสี่ยง อาทิ โรคประจำตัว หรือกลุ่มสูงอายุ ซึ่งจะให้ยา 5 วันแรกตั้งแต่เริ่มมีอาการ พบว่า สามารถยับยั้งอาการรุนแรง หรือการเข้า รพ. จากโควิดสายพันธุ์ปัจจุบันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเดลต้า แกมมา ตลอดจนสายพันธุ์เฝ้าระวังอย่างมิวได้กว่า 50%
“โมลนูพิราเวียร์จากการทดลองในคนอาการเล็กน้อย-ปานกลาง พบว่าได้ผลเป็นอย่างดี ส่วนการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโควิดอาการหนักพบว่าไม่ได้ผล จึงได้พับแผนไปก่อนหน้านี้ และศึกษาเพียงในกลุ่มอาการเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น”
เบื้องต้น เมิร์ค บริษัทผู้ผลิตได้ดำเนินการยื่นขอการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉินกับองค์การอาหารและยา หรือ FDA สหรัฐอเมริกา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากได้รับการอนุมัติโมลนูพิราเวียร์จะกลายเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกของโลกที่ได้รับการรับรองจากอเมริกา ทั้งนี้ ทางเมิร์คระบุว่า ตั้งเป้าจะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับ 10 ล้านคน ภายในปี 2564 นี้
สำหรับราคาในแต่ละประเทศจะไม่เท่ากัน ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางจะได้ราคาถูกกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีรายได้สูง ขณะเดียวกันไทยก็อาจจะซื้อแพงกว่าประเทศที่รายได้ต่ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นนโยบายของบริษัทที่ต้องการกระจายยาต้านโควิดไปในหลาย ๆ พื้นที่อย่างเป็นธรรม
ส่วนไทม์ไลน์สำหรับการนำเข้าโมลนูพิราเวียร์ในไทย ได้หารือรายละเอียดกับทางเมิร์คประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยวานนี้ (5 ต.ค.) ได้จัดทำร่างหนังสือสัญญาซื้อขายจำนวน 40 หน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงให้เมิร์คผ่านการขึ้นทะเบียนกับ FDA อเมริกาในราวเดือน ต.ค.-พ.ย.
ก่อนที่จะมาขึ้นทะเบียนในไทยผ่านได้ราวช่วง พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งคาดว่าในไทยจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ต้านไวรัสได้เร็วสุด ธ.ค. ปีนี้ หรือช้าสุดช่วง ม.ค. ปี 65
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ร่วมกับเมิร์คในการทำการศึกษาวิจัยการใช้ยาต้านโควิดโมลนูพิราเวียร์ในประเทศไทยผ่านโรงพยาบาล 5 แห่ง ซึ่ง รพ.ราชวิถีในสังกัดกรมการแพทย์จะเป็นโรงพยาบาลอีกแห่งที่ได้รับการวิจัยในครั้งนี้ แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะได้เริ่มศึกษาได้ภายใน ธ.ค. นี้