วันที่ 7 ตุลาคม 2564 หนังสือพิมพ์อปท.นิวส์ ได้เปิดตัว สำนักโพล “อปท.นิวส์โพล” โดยมี ดร.กำพล มหานุกูล ประธานบริหารสำนักโพล อปท.นิวส์โพล นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักโพล อปท.นิวส์โพล อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และรศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาสำนักโพล อปท.นิวส์โพล พร้อมทีมสำนักโพล ร่วมแถลงข่าว โดยนายชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า สำนักโพลน้องใหม่นี้ ที่จะทำหน้าที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกลุ่มต่างๆเพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการที่หน่วยงานรัฐจะต้องเข้าไปดูแล และแก้ปัญหาให้กับพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งโพลจะทำหน้าที่สำรวจไปในกลุ่มที่เกิดปัญหาและส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในระดับกลุ่มต่างๆ ซึ่ง อปท.นิวส์โพล ได้เริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนประเดิมโครงการแรก คือ โควิด-19กับผลกระทบรายได้-หนี้ โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่ายในการเก็บข้อมูลทางออนไลน์ และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามเพิ่มเติม และอีกส่วนหนึ่งจะมีทีมนักวิชาการลงไปในชุมชนเพื่อทราบปัญหาที่แท้จริงว่าสภาพเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
งานแรกที่ดำเนินการของทีมสำนักโพลคือการสำรวจความคิดเห็นระหว่างวันที่23-30กันยายน 2564 จำนวนมากกว่า1,200ตัวอย่าง พบข้อมูลหลายอย่าง อาทิเช่น เรื่องหนี้สิน ร้อยละ71.2 บอกว่ามีหนี้สิน และมีหนี้สินจำนวน10,000-50,000 บาท มากถึงร้อยละ48.9 รองลงมา 37.4 มีหนี้สินต่ำกว่า10,000บาท เป็นต้น สำคัญกว่านั้นมีการพบข้อมูล ตัวอย่าง แหล่งเงินกู้ มีมากถึงร้อยละ54.9 ประชาชนจะกู้เงินจากสถาบันการเงินเอกชน และรองลงมาเป็นการกู้เงินจากญาติพี่น้องและเพื่อน แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ว่าธนาคารออมสิน ธกส. ฯลฯ ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างที่รัฐบางได้ประกาศไว้ เป็นต้น นี่คือเสียงสะท้อนของประชาชนแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น และจำนวนกลุ่มสำรวจก็จำนวนหนึ่งเท่านั้น (รายละเอียดในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์ ฉบับ366)
นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่า ทางอปท.นิวส์โพล จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นในเรื่องต่างๆของประชาชนอีกหลายเรื่องในโอกาสข้างหน้า ได้แก่ การเลือกตั้งของรัฐบาล ที่จะมีอีกเป็นระลอก ตั้งแต่ เลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ เลือกตั้ง เมืองพัทยา เลือกตั้ง กทม. และในอีก2ปีข่างหน้าจะมีการเลือกตั้งส.ส. ซึ่ง อปท.นิวส์โพล จะทำการสำรวจความต้องการของประชาชนในประเด็นต่างๆเป็นระยะๆ เพื่อสะท้อนปัญหาอย่างแท้จริง
หวังอย่างยิ่งว่าข้อมูลจากการทำโพลข้างต้นนี้ จะเป็นข้อมูลให้กับรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนประเด็นของความต้องการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น