ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ตามที่กรมอุตอนุยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 4 พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับความเสียหายทั้งบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม จึงได้มอบนโยบายให้ ส.ป.ก.จังหวัดที่ประสบอุทกภัย และมีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนเตี๊ยนหมู่ ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับตรวจสอบรายละเอียดเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยโดยเร็วที่สุด
โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจาก พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” มีดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” ที่คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ซึ่งอาจจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มขึ้น และเฝ้าระวังมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย อาจทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง อย่างไรตาม ก็ได้เน้นย้ำให้ ส.ป.ก.ทุกจังหวัด เฝ้าติดตามและระวังสถานการณ์น้ำ เพื่อที่จะได้ให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้อย่างทันท่วงที
เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวอีกว่า จากประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาและจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ ส.ป.ก. จึงได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยจะต้องเป็นไปตามระเบียบและมติที่เกี่ยวข้อง คือ 1.การลดภาระหนี้สินเกษตรกร สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ ได้แก่ การผ่อนผันหรือการขยายเวลาการจัดเก็บค่าเช่าซื้อที่ดิน การผ่อนผันหรือขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้ การลดหรืองดเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ และ การลดหรืองดเว้นการจัดเก็บค่าเช่าที่ดิน 2. การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่มีหนี้ค้างชำระ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 3 ปี ทั้งนี้จะต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินตามประกาศ ปภ. กระทรวงมหาดไทย
"ทั้งนี้ นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส.ป.ก. จึงได้ดำเนินการเสนอต่อคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) เพื่อให้พิจารณาขยายเวลาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 อีกด้วย โดยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ ส.ป.ก. จังหวัด 72 จังหวัด ทั่วประเทศ"ดร.วิณะโรจน์ กล่าว