ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี พ.ศ. 2559 ณ เมือง ดาวอส ภายใต้หัวข้อหลัก “ผู้นำยุคใหม่ที่ปรับตัวก้าวทันโลกและมีความรับผิดชอบ (Responsive and Responsible Leadership)” ระหว่างวันที่ 17 ถึง 20 มกราคม พ.ศ. 2559 WEFได้เสนอให้จัดทำดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ซึ่งเป็นการรวบรวมและคัดเลือกข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index) ประกอบกับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ เช่น ดัชนีความพร้อมของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Networked Readiness Index) ดัชนีภาคการค้า (Enabling Trade Index) ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Competitiveness Index) ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ (Gender Gap Index) และดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Capital Index)
ดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ประกอบด้วยตัวชี้วัดโครงสร้างการผลิตและการบริโภค รวมไปถึงตัวขับเคลื่อนและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตทั้ง 5 ด้าน ซึ่งได้แก่ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล และด้านทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน ซึ่งในแต่ละด้านครอบคลุมมิติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. โครงสร้างการผลิตและการบริโภค: มิติด้านโครงสร้างการผลิต ได้แก่ ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงไปข้างหน้า/ข้างหลัง การเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และปัจจัยด้านความหนาแน่นและการค้นพบ และมิติด้านโครงสร้างการบริโภค ได้แก่ ความเต็มใจที่จะลองสินค้าและบริการใหม่ ๆ การเปิดกว้างต่อกรรมวิธีการผลิตสมัยใหม่ และรสนิยมของผู้บริโภคและความพร้อมใช้งานของข้อมูล
2. เทคโนโลยีและนวัตกรรม: มิติด้านความเข้มข้นของการวิจัย มิติด้านกิจกรรมทางอุตสาหกรรม มิติด้านการใช้งานและความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และมิติด้านความซับซ้อนของเทคโนโลยี
3. เศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน: มิติด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า มิติด้านศักยภาพทางการค้า มิติด้านการลงทุน และมิติด้านการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล
4. ทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม: มิติด้านพลังงานใส่เข้าและต้นทุนพลังงาน มิติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มิติด้านแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน และมิติด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
5. กฎระเบียบและการกำกับดูแล: มิติด้านคุณภาพองค์กร มิติด้านความปลอดภัยในโลกดิจิตอลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิติด้านแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม และมิติด้านอุปสรรคทางการค้า
6. ทุนมนุษย์และทักษะแรงงาน: มิติด้านผลลัพธ์ทางการศึกษา มิติด้านความว่องไวและความสามารถในการปรับตัว มิติด้านบูรณภาพ มิติด้านทักษะแรงงาน และมิติด้านการย้ายถิ่นแรงงาน
ทั้งนี้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ได้เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมประชุม World Economic Forum โดยเป็นประธานร่วมในการประชุมกรรมการคาดการณ์ทิศทางโลก (Board of Stewardship) ในวันที่ 18 มกราคม 2560 และได้เสนอให้ความร่วมมือกับ WEF ในการจัดทำ ดัชนีความพร้อมสำหรับอนาคตการผลิต (Future of Production Country Profiles) ในประเทศไทย เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ในการทราบถึง จุดแข็ง และจุดอ่อนของไทยในเรื่องความพร้อมนี้ และสามารถออกแบบและจัดอันดับความสำคัญนโยบาย และสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุนมายังประเทศไทยได้ต่อไป