นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "นโยบายเศรษฐกิจจาก Pandemic สู่ Endemic" ในงานครบรอบวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปีที่ 60 ว่า โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก และทั่วประเทศไทย โดยส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ซึ่งคิดเป็น 12% ต่อจีดีพี ที่มีรายได้มาจากการท่องเที่ยว ทำให้รายได้ในประเทศหายไปประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนนี้กระทบความเป็นอยู่ภาคท่องเที่ยว โรงแรม รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วย
อย่างไรก็ดี 1-2 ปีที่ผ่านมา คลังมีความสำคัญในการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งทั่วโลกก็มีการจ่ายเงินเยียวยาเช่นกัน โดยตั้งแต่ปี 2563 ก็ได้มีการเยียวยาผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน คนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน ทั้งนี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้มีการปิดประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจมีการปิดตัว การจ้างงานก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะแรงงานในระบบที่ถูกเลิกจ้าง แล้วกลับไปสู่ภูมิลำเนา ส่วนเหล่านี้จึงเป็นความจำเป็นในการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อมาลดผลกระทบ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการเงินเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน โดยกระทรวงการคลังก็ได้มีการหาสภาพคล่องให้กับแบงก์รัฐ ส่วนสถาบันการเงินภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการดูแลให้ระบบการเงินสามารถทำงานได้ ให้สภาพคล่องในการใช้จ่ายเงิน ทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดอัตราชำระหนี้ต่างๆ เป็นต้น
นายอาคม กล่าวว่า ความท้าทายของทุกประเทศคือการใช้เงินเยียวยาโควิดมหาศาล โดยประเทศไทยก็ออก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับ รวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ถือว่ามากกว่าระดับปกติ ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงได้มีการขยับกรอบเพดานหนี้ เพื่อเปิดช่องในการกู้เงินป้องกันและระงับการแพร่ระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มองว่าระยะต่อไปโควิดจะไม่ได้หายไปไหน จะเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ เมื่อติดแล้วก็ต้องเข้ารับการรักษา เหมือนกับโรคประจำถิ่น แต่การที่จะทำให้การแพร่ระบาดทั่วโลก มาเป็นโรคประจำถิ่นนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะต้องคิดไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินหรือนโยบายการคลัง จะต้องสอดประสานกัน
"ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตใดๆ ก็ตาม จะต้องมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยแยกออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ภูมิคุ้มกันระดับมหภาค ภูมิคุ้มกันระดับหน่วยธุรกิจ และภูมิคุ้มกันระดับประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินการคลัง โดยสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ส่วนนั้น มองว่านโยบายที่สำคัญ คือการออม เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นใจว่าครอบครัวมีความมั่นคงหากมีวิกฤตเกิดขึ้น และ 3 ภูมิคุ้มกันที่กล่าวมา จะต้องมีการให้ความรู้ทางด้านการเงิน รวมทั้งในเรื่องหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันการเงินของรัฐและเอกชน สามารถช่วยเหลือเรื่องการยืดหนี้ พักชำระหนี้ ลดภาระต้นเงินและดอกเบี้ย และสภาพคล่องอื่นๆ เป็นต้น"
โดยภูมิคุ้มกันทั้ง 3 ระดับ เชื่อมโยงมาถึงปริมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลที่มีอยู่มากในทุกประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกันกับประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือวิธีหารายได้ของรัฐบาลจะมาจากส่วนใด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. การปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ โดยเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ฐานะที่เป็นผู้ออกนโยบายการจัดเก็บรายได้ต้องคิดเรื่องนี้ว่าโครงสร้างการจัดเก็บรายได้มีอยู่หลายแหล่ง ทั้งจากภาษีอาการ การจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจ ค่าธรรมเนียมต่างๆ และรายได้จากสัมปทาน จะมีวิธีการปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ระดับรายได้มีความมั่นคง
2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายธุรกิจอาจจะดำเนินงานแบบเดิมไม่ได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งบทบาทกระทรวงการคลัง ในการเสียภาษีอากรก็ต้องมีการนำเทคโนโลยีมากใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัยด้วย และต่อมาคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ 3. การปรับโครงสร้างประชากร คือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราส่วนของจำนวนผู้สูงอายุต่อประชากรจะพุ่งกว่า 24% ของประชากร ฉะนั้น การลงทุนทางด้านการแพทย์ สาธารณะสุข รวมทั้งเรื่องสุขอนามัย เพื่อความยืนยาวของชีวิตคนไทยนั้น ถือเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจอีกแบบ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ว่าจะทำให้มาตรการภาษีจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนได้อย่างไร และสุดท้าย 4. การสร้างการเติบโตของเครื่องยนต์อันใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นความหวังที่ต้องการการลงทุน ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนเข้าไปได้
"การที่จะทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยจาก Pandemic สู่ Endemic คือการสร้างภูมิคุ้มกันทุกระดับ ให้มีความมั่นใจว่าเรามีความมั่นคงเพียงพอในการที่จะรองรับวิกฤตการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโควิด หรือวิกฤตการเงิน และวิกฤตภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันต่อไป" รมว.คลัง กล่าว