นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ว่าในภาพรวมในการดำเนินการระยะ 1 ปี ทางการบินไทยฯได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ได้แก่ "สายการบินคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง" และมีพันธกิจ 4 ด้าน คือ 1. สร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า 2. ความเป็นเลิศด้านการพาณิชย์ 3. ต้นทุนที่แข่งขันได้ และ4. ผู้นำด้านปฏิบัติการบิน รวมถึงได้มีการดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจ(Transformation Initiatives) ที่พัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาทต่อปี เปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปธุรกิจมีโครงการสำคัญๆ ครอบคลุมด้านต่างๆ และส่งผลให้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญได้แก่ ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ,ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท ,การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ,ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ,ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ,ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน จำนวนผู้บริหารทุกระดับลดลงในสัดส่วน 35% ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้นทำให้สามารถนำพื้นที่ว่างและไม่ได้ใช้งานมาหาประโยชน์ในการสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องทั้งโดยการให้เช่าและจำหน่าย อาทิ การให้เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ การจำหน่ายอาคารและที่ดินสำนักงานหลักสี่ หลานหลวง ภูเก็ต และที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงยังได้ยกระดับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงานเช่น ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล โดยปรับให้เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายในระยะเวลาที่ระเบียบฯ กำหนด (Vacation Compensation) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนรวมถึงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ลดสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือ 1.5% ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ ตามกรอบการดำเนินการที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยการบินไทยฯมีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่ายจำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินรวม 58 ลำ โดยรวมถึงฝูงบิน A320 ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ 20 ลำ ซึ่งฝูงบินปัจจุบันมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเป็นผลให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารฝูงบินและค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาทเมื่อทำการบินในปริมาณการผลิตใกล้เคียงปี 2562 และแบบเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ ลดลงจาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ ซึ่งบริษัทฯก็ยังเดินหน้าขายเครื่องบินจำนวน 42 ลำ คาดว่าจะได้รับเงินทั้งหมด 8,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้มีจำนวนนี้ 11 ลำได้เซ็นสัญญาขายออกไปแล้ว และอยู่ระหว่างการอนุมัติของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะบันทึกรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 /2564 บางส่วนและที่เหลือไตรมาสแรกปี 2565
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินภาคเอกชนเพื่อขอวงเงินสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปและเบิกเงินกู้งวดแรกได้ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูฯที่กำหนดให้มีการกู้วงเงินสินเชื่อใหม่ 50,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะมาจากภาครัฐจำนวน 25,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นรูปแบบใด จึงต้องเจรจาขอกู้จากสถาบันการเงินเอกชนก่อน โดยปัจจุบันทางการบินไทยฯ มีสภาพคล่องทางการเงินประมาณ 6,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565 จะขาดทุนลดลงตามลำดับ หรืออาจมีกำไรแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การบินว่าจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน แต่มั่นใจว่าในปี 2566 บริษัทจะกลับมามีกำไร ขณะที่การดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนปฏิรูปธุรกิจ รวมถึงบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา
ส่านการหารรายได้นั้นทางบริษัทฯเร่งหารายได้จากธุรกิจการบิน เช่น Puff&Pie ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องกว่า 4,800 ล้านบาท ในช่วงเดือน เม.ย. 2563-ต.ค. 2564 ซึ่งใน 5 ปีจะขยายสาขาให้เพิ่มเป็น 500 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 40 สาขา โดยจะสร้างรายได้เข้ามาปีละ 500 ล้านบาท สำหรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลนั้น การบินไทยฯได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 2564 - 26 มี.ค. 2565 โดยภายในไตรมาสที่ 1/2565 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ในทวีปยุโรป 9 จุดบิน ในทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยสายการบินไทยสมายล์ 14 จุดบิน ด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services)