"จุรินทร์" โชว์วิชั่นผ่านเวที APEC ย้ำกติกา อีคอมเมิร์ซต้องโปร่งใส ยุติธรรมและมีบทคุ้มครองผู้บริโภค ตอบโจทย์การค้ายุคดิจิทัล เผยมูลค่าการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซปี 63 สูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้ SMEs เพิ่มมูลค่าการค้าได้กว่า 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 13% หนุนจัดทำ FTA-AP และ RCEP ย้ำเอเปคควรมีบทบาทสำคัญดันการประชุม MC12 สำเร็จตามเป้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Minister Meeting 2021: AMM) ครั้งที่ 32 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในนามตัวแทนประเทศไทย โดยได้นำเสนอประสบการณ์ของไทยในการใช้การค้าเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจใน 4 ประเด็นสำคัญดังนี้ ประเด็นที่ 1 รูปแบบการค้าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และการค้าดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยไทยสนับสนุนวิสัยทัศน์ปุตราจายาปี 2040 ที่เน้นการเตรียมประชาชนและธุรกิจเข้าสู่ยุค Digital Economy และจะร่วมกับสมาชิกเอเปคขับเคลื่อนแผนการทำงานด้านอินเทอร์เน็ต และ Digital Economy ที่ผ่านมา โดยไทยได้ใช้ E-Commerce สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะกับ SME ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีก-ค้าส่งของไทยผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ในปี 2563 สูงถึง 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และผู้ประกอบการ SMEs สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าได้ถึง 47,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13%
โดยที่ผ่านมาไทยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบ E-Commerce โดยมีกิจกรรมสำคัญอาทิ 1.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบไฮบริดคือ ทั้งออนไลน์และออนไซด์ผสมกัน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่ากว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.การจัดให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์มากกว่า 230 คู่ ซึ่งสร้างมูลค่าส่งออกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 3.การจัดฝึกอบรมเกษตรกร SMEs และ MSMEs ให้สามารถใช้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก 4.การเดินหน้าสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ภายใต้โครงการ From GEN Z to be CEO โดยอบรมนิสิตนักศึกษามากกว่า 20,000 ราย เพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปเป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป
ส่วนประเด็นที่ 2 ไทยสนับสนุนการใช้ BCG Model ขับเคลื่อน MSMEs ของประเทศ โดยในปี 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคจะจัดให้มีการสัมมนาใหญ่ (Symposium) ในเรื่องนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าการค้ายุคใหม่ต้องคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน
ขณะที่ประเด็นที่ 3 ไทยพร้อมสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งการจัดทำ FTA-AP และ RCEP ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบัน RCEP แล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อมั่นว่า FTA จะช่วยลดเลิกอุปสรรคทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเชื่อมโยงและเติบโตได้ดีในระยะยาว
และประเด็นที่ 4 ไทยต้องการเห็นความสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ในเดือนธันวาคมนี้ โดยเอเปคควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การประชุมมีผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง การจัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน และการจัดทำกฎเกณฑ์ด้าน E-Commerce ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือ การสร้างความโปร่งใส กติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่มประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย