พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินภายในประเทศในทำนองว่า รัฐถังแตก จึงต้องไปรีดภาษีสูงขึ้นนั้น เรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริง เพราะจากข้อมูลฐานะการคลังของรัฐบาล ณ เดือน ธ.ค. 2559 ยังมีเงินคงคลัง ซึ่งเป็นตัวเลขที่หักลบรายได้และรายจ่ายแล้วคงเหลือทั้งสิ้น 74,907 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เหตุผลในการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินคือ การสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากการขนส่งทางถนน ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้รถต้องเสียภาษีน้ำมันเบนซินในอัตรา 5-6 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ขณะที่การขนส่งทางอากาศ ผู้ประกอบการเสียภาษีน้ำมันเครื่องบินเพียง 20 สตางค์ต่อลิตร ติดต่อกันมาถึง 24 ปีแล้ว รัฐจึงได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4 บาทต่อลิตร เมื่อ 25 มกราคม 2560
พล.ท.สรรเสริญ ยังระบุว่า การคำนวณต้นทุนของกรมสรรพสามิต พบว่า การปรับขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินครั้งนี้ จะทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 50 บาท และไม่น่าจะถึง 150 บาทต่อเที่ยว เพราะเครื่องบินขนาดกลางที่มีที่นั่ง 200-300 ที่นั่ง จะใช้น้ำมันประมาณ 2,500 ลิตรต่อชั่วโมง หรือมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 9,500-10,000 บาท หากนำไปเฉลี่ยกับจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินแล้ว กรมสรรพากรสามิต เห็นว่า ราคาควรจะเพิ่มขึ้นเพียง 45-50 บาทเท่านั้น ดังนั้น การปรับขึ้นหรือลงของภาษีน้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และอื่นๆ ต้องเป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทานของโลก ส่วนรายได้ที่เกิดจากการเก็บภาษีนั้น รัฐจะคืนกลับแก่ประชาชนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การซ่อมแซมถนน สะพาน ระบบจราจร ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร ลานบิน ระบบความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมการบินเช่นเดียวกัน ซึ่งการกล่าวอ้างว่า การใช้บริการเครื่องบิน ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือการคืนกลับให้แก่สังคมนั้น จึงฟังไม่ขึ้นรบ.ปัดถังแตกยันเงินคลังเข้มแข็งชี้ขึ้นภาษีเครื่องบินยึดกลไกตลาด