นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งติดตามการดำเนินงานผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ปรับแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวมีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy รวมถึงการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของพื้นที่ ผ่าน 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 2.การยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน 3. การดึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นกระตุ้นความต้องการของตลาด และ 4. การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าชุมชน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) ณ จังหวัดกระบี่ และได้มีการติดตามการดำเนินงานในส่วนของการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล โดยในการดำเนินงานดังกล่าว ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับและมีบทบาทการยกระดับศักยผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ยังร่วมรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการ พร้อมนำไปปรับเป็นแผนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เร่งปฏิบัติงานด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Model รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ และพัฒนานวัตกรรมการผลิตในธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาดีพร้อม มีแนวทางและแผนการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน รวมถึงได้มีการติดตามการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งมีอยู่กว่า 5 แสนราย ไม่ว่าจะเป็น การประมง การปศุสัตว์ การทำเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรแปรรูป รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าและมีอานิสงส์ต่อการจ้างงานของประชากรในพื้นที่ โดยหลังจากได้รับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดีพร้อมได้เร่งเตรียมฟื้นฟูและยกระดับผู้ประกอบการด้วยแนวทางที่สำคัญหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
• เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) โดยเฉพาะการสนับสนุนเครื่องจักรของศูนย์ ITC เพื่อใช้ในการแปรรูปสมุนไพรประจำถิ่น เช่น พริกไทย ดีปลีเชือก ขิงแห้ง เจตมูลเพลิงแดง ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางการเกษตร และในปีงบประมาณ 2565 ยังได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ ITC ภายใต้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ในการรองรับระบบ มาตรฐาน อย. และ GMP ซึ่งจะทำให้สถานประกอบการในพื้นที่มีการผลิตตสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามความต้องการของตลาด
• การยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน โดยจะส่งเสริมให้สถานประกอบการด้านอาหารมีการเตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร เช่น มาตรฐานฮาลาลจีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมสปา ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าและมีศักยภาพของกลุ่มจังหวัดรับการรับรองมาตรฐานระดับสากล และพัฒนาแนวทางการให้บริการสปาตามมาตรฐานการท่องเที่ยวแนวใหม่ และภายใต้ มาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) รวมถึงพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และยกระดับพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางภูมิศาสตร์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ภายใต้โมเดลหมู่บ้าน CIV
• การดึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นกระตุ้นความต้องการของตลาด เน้นการนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงต่อยอดและเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกการพัฒนาของศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละภาค ซึ่งมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เครือข่ายมหาวิทยาลัย ตลอดจนผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ CIV มากขึ้น เช่น CIV บ้านดินแดง CIV บ้านร่าหมาด CIV บ้านนาตีน จังหวัดกระบี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สอดรับกับทั้งการโฆษณาเพื่อขายในช่องทางออนไลน์ การค้าขายผ่านระบบขนส่งไปรษณีย์ และสรรหาช่องทางการค้าที่มีศักยภาพเพื่อจับคู่กับผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงไปสู่ผู้บริโภค
• การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าชุมชน โดยจะมีการนำงานวิจัยต้นแบบ เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ผ่านการพัฒนาจากศูนย์ ITC 4.0 ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เช่น ต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า ต้นทุนแรงงานมนุษย์ ต้นทุนด้านขนส่ง รวมถึงต้นทุนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีมากขึ้น