สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดตราด รายงานว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เพื่อเป็นการแก้ไข และบรรเทาผลกระทบแก่คนต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักร และการแจ้งที่พักอาศัยต่อไปได้ ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ดังนี้
1. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา Visa on Arrival)
2. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเกิน 90 วันแล้ว ครบกำหนดระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ให้ได้รับการขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ถึง 31 ธ.ค. 2564
อย่างไรก็ตามหลังจากมีการเปิดประเทศส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายแห่งมีความต้องการแรงงานในการเปิดกิจการกิจกรรม ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงจัดฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มคนต่างด้าวทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียน ได้แก่
แรงงานต่างด้าวภาคประมงและคนประจำเรือไทยในจังหวัดชายทะเล 21 จังหวัด
แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ และ ที่พักอาศัย (บ้าน)
แรงงานต่างด้าวตามเขตชายแดน
กลุ่มที่หนีภัยสู้รบในศูนย์พักพิง จ.ราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอนและตาก ตลอดจนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งหมด
ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มที่อยู่ในประเทศ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคน ในประเทศสามารถใช้ชีวิตอยู่กับโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่ ศบค. มีมติเห็นชอบแนวทางของกระทรวงแรงงานในการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 โดยจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MoU ซึ่งนายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงานได้ที่กรมการจัดหางาน มีทั้งหมด 8 ขั้นตอน ดังนี้
1. ยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว
2. จัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว
3. การดำเนินการของประเทศต้นทาง
4. ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
5. การอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง
6. การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
7. เข้ารับการกักตัว
8. การอบรมและใบอนุญาตทำงาน