นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้มีหนังสือสั่งการให้ผู้ก่อกำเนิดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายที่มีของเสียปริมาณมาก แต่การแจ้งขนออกไม่สอดคล้องกับการแจ้งรับ อย่างมีนัยยะสำคัญ จำนวน 37 โรงงาน และโรงงานผู้รับบำบัดหรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่รับ ของเสียปริมาณมาก แต่ไม่ได้จัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ จำนวน 98 โรงงาน ให้ส่งรายงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดไว้ ภายใน 15 วัน หากไม่ส่งจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ายังไม่ดำเนินการอีก จะมีการสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข หรือหยุดประกอบกิจการไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
นายวันชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่กำกับดูแลตรวจสอบโรงงานที่ประกอบกิจการรับกำจัดหรือบำบัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วหรือที่เราเรียกว่ากากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,451 โรงงาน โดยแบ่งเป็นลำดับที่ 101 โรงงานปรับสภาพของเสียรวม จำนวน 138 โรงงาน ลำดับที่ 105 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 1,433 โรงงาน และลำดับที่ 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม จำนวน 880 โรงงาน ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบกิจการโรงงานรับบำบัดหรือกำจัดหลายรายจงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังจะเห็นตามที่เป็นข่าวเรื่อยมา และล่าสุดก็กรณีการลักลอบแอบนำไปทิ้งที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไว้แล้ว
ทั้งนี้ จากข้อมูลการรับกำจัดกากในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมชนิดอันตรายไปบำบัดจำนวน 1,189,102 ตัน และชนิดไม่อันตรายจำนวน 14,039,913 ตัน แต่กลับพบจากรายงานว่า มีการบำบัดจริงไม่เป็นไปตามที่ขออนุญาตไว้ จึงได้สั่งการให้โรงงานที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยดังกล่าว รายงานข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายใน 15 วัน และจะขยายผลการตรวจสอบโรงงานอื่น ๆ ที่เหลือ อีกกว่าพันราย ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยต่อไป
ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พัฒนาระบบติดตามรถขนกากของเสียอุตสาหกรรม (E-fully Manifest) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยระบบจะเชื่อมต่อสัญญาณ GPS ที่ติดอยู่กับรถเข้ากับระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเดินรถได้แบบเรียลไทม์ และจะใช้เป็นหลักฐาน กรณีมีเรื่องลักลอบทิ้งกาก หรือหากพบว่ารถที่ขนกาก มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น วิ่งออกนอกเส้นทาง จอดพักรถในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวังที่เคยมีประวัติการลักลอบทิ้งกากเป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะสั่งการให้รถที่จะรับขนกากของเสียอุตสาหกรรม ต้องมาลงทะเบียนเพื่อใช้งานระบบดังกล่าว ภายใน 30 พ.ย.64 นี้ นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย