การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รับลูกนายกฯ - รมว.อุตสาหกรรม ผลักดันนิคมฯ อุดรธานี เป็นฮับโลจิสติกส์กระจายสินค้าอีสาน-อาเซียน-จีน เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ลดคาร์บอน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมนักลงทุนจังหวัดอุดรธานี ที่ลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคอีสาน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนให้เดินไปด้วยกัน โดยจะเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟและเส้นทางถนนมิตรภาพเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เพื่อให้การขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีออกสู่ภายนอก สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมนั้น ทั้งนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้ กนอ.ลงพื้นที่ดูความพร้อมต่างๆ โดยจากการลงพื้นที่ล่าสุดพบว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีนั้น มีความพร้อมที่จะเป็นฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพื่อรับสินค้าจากจีน และส่งสินค้าจากภาคอีสานหรือแม้แต่ในภูมิภาคอาเซียนกลับไปประเทศจีน
นายวีริศ กล่าวอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานระหว่าง กนอ.กับเอกชน โดยจะเป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของภาคอีสานเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ พื้นที่สำหรับเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมยางขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ กนอ.จะเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านเครื่องมือสนับสนุนการลงทุนทั้งด้านภาษีและด้านที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีศักยภาพ ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจควบคู่สิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคเอกชนก็จะได้ประโยชน์ในด้านการผลิตและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีพื้นที่ 2,170-2-52 ไร่ มูลค่าการลงทุนของโครงการ 2,812.85 ล้านบาท เป็นศูนย์รวบรวมวัตถุดิบทางการเกษตรในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน เพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี นอกจากนี้ เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางราง และโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีและลูกค้าทั่วไป ในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งสินค้าทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของภาคอีสานตอนบน โดยจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างการขนส่งหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งจากรถไฟมาเป็นรถบรรทุกคอนเทนเนอร์หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก และมีแผนจัดตั้ง Logistics Park บนพื้นที่ 600 ไร่ มีอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่ได้มาตรฐานสากลจำนวน 3 หลัง มีพื้นที่รวม 23,160 ตารางเมตร รวมถึงมีการจัดตั้งพื้นที่ ICD (INLAND CONTAINER DEPOT) ภายในนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ทั้งหมด 124 ไร่ 3 งาน 27.5 ตารางวา เป็นศูนย์โลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้าเขตปลอดอากร เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าทางราง
“จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้จังหวัดสำคัญในแต่ละภูมิภาคควรต้องมีนิคมอุตสาหกรรม และต้องเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ลดคาร์บอน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามที่ได้ไปตกลงไว้ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) พยายามจูงใจคนไทยให้มาร่วมทำงานกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น มีการสร้างแรงงานที่มีทักษะ มีศักยภาพสูง เพื่อจะได้มีรายได้ที่ดี และเป็นการกระจายการจ้างงานสู่ภูมิภาค โดยปัจจุบัน มีนักลงทุนจากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป มาเข้าพบเพื่อแสดงความจำนงในการลงทุนทางอุตสาหกรรมในไทย ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการลงทุนและมีเม็ดเงินเข้าสู่ภาคอีสานจำนวนมาก”นายวีริศ กล่าวทิ้งท้าย