สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ 9 ภาคีสภาลมหายใจภาคเหนือ จัดเวทีสาธารณะ “ปลอดฝุ่น ปลอดภัย ในสถานศึกษา" พร้อมตรวจสุขภาพปอด ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง วัดระดับคาร์บอนนอกไซต์ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในพื้นที่จังหวัดลำพูน จำนวน 1,000 คน โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ณ โรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2564 โดยพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน และลำพูน พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึง 26,614 ราย โดยกลุ่มโรคที่พบสูงสุด 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชน
“สสส. เร่งขยายพื้นที่ต้นแบบ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” จาก 30 โรงเรียนให้ครอบคลุม 140 โรงเรียนทั่วประเทศ ในปี 2565 ซึ่งจากเดิมจะมีเพียงระดับประถมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนของรัฐบาล ขณะนี้ ได้ขยายผลสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ผ่านการสร้างองค์ความรู้ โดยมีโรงเรียนเป็นแกนกลาง สู่การตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพร่วมกับชุมชน และท้องถิ่น รวมทั้งมีข้อเสนอเชิงนโยบายการรับมือกับวิกฤตฝุ่นและพื้นที่วิกฤตในสถานศึกษา สู่นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ” นายชาติวุฒิ กล่าว
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนในจังหวัดลำพูนมีมาตรการการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ มาตรการติดตามคุณภาพอากาศแบบวันต่อวัน เมื่อพบค่าฝุ่นที่อันตราย ครูจะประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนสวมใส่หน้ากาก N95 สำหรับวิชาที่ต้องเรียนกลางแจ้งเปลี่ยนมาเรียนในห้องเรียนแทน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ของ สสส. เพื่อบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน เป็นการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีค่าฝุ่นส่งผลต่อสุขภาพ พร้อมพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้ทุกชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เกิดวิฤตฝุ่น PM2.5
นายสมนึก วันหลี ผู้ใหญ่บ้านก้อจอก ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ตำบลบ้านก้อ มีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยป่าและภูเขา ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเกิดจากไฟไหม้ป่า รวมถึงคนในชุมชนยังขาดความเข้าใจเรื่องผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ยังมีการเผาเกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา เมื่อมีการเผาในพื้นที่ตำบลบ้านก้อ จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายให้สวมใส่หน้ากาก N95 เท่านั้น การเข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นของ สสส. ครั้งนี้ นอกจากโรงเรียนในพื้นที่จะเน้นการสอนแบบบูรณาการในห้องเรียนให้แก่เด็กนักเรียน ยังมีการต่อยอดจัดกิจกรรมอบรมครู ผู้ปกครอง แกนนำในพื้นที่ เพื่อขยายผลให้คนในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีวิธีจัดการตัวเอง โดยงดการเผานา-ไร่ป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่ โดยมุ่งเป้าลดการเผาในพื้นที่ตำบลบ้านก้อ 100% ในปี 2565
ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) หัวหน้าทีมแพทย์ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด แนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากปัญหาฝุ่น PM2.5 มี 4 วิธี คือ 1.สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง 3.พักผ่อนให้เพียงพอ และ 4.รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ เน้นผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยล้างสารพิษในกระแสเลือด ซึ่งอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 สังเกตได้ คือ 1.ผิวหนัง เป็นผื่นแดง คัน 2.ดวงตา ตาแดง บวม คันตา น้ำตาไหล และ 3.ทางเดินหายใจ คันคอ แน่นหน้าอกและโพรงจมูก ไอ จาม มีน้ำมูกใส หากอาการแสบคอ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด หรือมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์
“การตรวจสุขภาพผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ตรวจระดับคาร์บอนมอนอกไซด์และเอ็กซเรย์ปอด เพื่อวินิจฉัยโรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมตรวจรักษาโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจโดยการพ่นยา เมื่อตรวจเจอแพทย์จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว และส่งต่อผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ทันที” ศ.ดร.พญ.อรพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ สภาลมหายใจภาคเหนือ 9 แห่ง ประกอบด้วย สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงราย สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจน่าน สภาลมหายใจพะเยา สภาลมหายใจแพร่ สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน สภาลมหายใจลำปาง และสภาลมหายใจลำพูน