พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี (ช่วงที่ 2) เขตสาทร
โครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นหนึ่งใน 5 โครงการนำร่อง ตามแนวคิด ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต (Regenerative Bangkok) ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ริเริ่ม มีพื้นที่โครงการเริ่มต้นจากถนนสุรวงศ์จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่เขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา โดยโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ประกอบด้วย 1.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสุรวงศ์ ถึงถนนสาทร 2.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 3.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ 4.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนจันทน์ ถึงถนนรัชดาภิเษก และ 5.โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนรัชดาภิเษก ถึงถนนพระราม 3
ปัจจุบันโครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร มีความคืบหน้าโครงการ 70% โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ลานกิจกรรม งานทรายล้างแล้วเสร็จ งานปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้น้ำนานาชนิด คาดว่าแล้วเสร็จ 23 ธ.ค.64 งานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและไฟประดับ คาดว่าแล้วเสร็จ 22 ธ.ค.64 งานติดตั้ง 3 D Printing ผนังน้ำตกแล้วเสร็จ งานระบบน้ำล้น (Fog) คาดว่าแล้วเสร็จ 20 ธ.ค.64 โซนที่ 2 sky walk งานปูหินแกรนิตพื้นทางเดิน คาดว่าแล้วเสร็จ 21 ธ.ค.64 งานติดตั้งราวกันตกทางเดิน เริ่มดำเนินการ 18 ธ.ค.64 งานปลูกต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่ม เริ่มดำเนินการ 20 ธ.ค.64 (ปลูกหญ้า) และโซนที่ 3 เชื่อมต่อ BRT งานเทคอนกรีตพื้นทางเดิน คาดว่าแล้วเสร็จ 23 ธ.ค.64
เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมด จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ และปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองช่องนนทรี ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในระยะยาว เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นเส้นทางออกกำลังกาย รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน ตลอดจนเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
การพัฒนาคลองช่องนนทรี ไม่ได้มุ่งแต่การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะทำให้คลองมีประโยชน์มากกว่าทางระบายน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเสียแยกออกจากน้ำดี และน้ำเสียที่แยกออกมาจะถูกบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ไล่น้ำเสียในคลองสายอื่นที่เชื่อมต่อกับคลองช่องนนทรี รวมทั้งยังคงมีศักยภาพในการเป็นแก้มลิง เพื่อรับน้ำฝน ภายหลังการปรับปรุงจะทำให้คลองสายนี้มีความยืดหยุ่นในการรองรับปริมาณน้ำได้ดีมากขึ้นด้วย