นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2564 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ว่า กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประสานนโยบายการเงินการคลัง ดูแลเศรษฐกิจปีหน้าให้เติบโตขึ้น โดยปี 2565 อาจจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ประมาณ 4% ต่อปี ซึ่งหลายสำนักต่างเห็นตรงกัน ถือว่าใช้ได้ในขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นดีโดยหากย้อนมาดูในปี 2564 เศรษฐกิจไทยช่วง 9 เดือนแรก โตได้ 1.3% ต่อปี แม้ว่าไตรมาส 3 จะติดลบ ซึ่งจากการเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.64 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา
โดยปีหน้าก็ไม่ได้คาดหวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะขึ้นไปมากถึง 40 ล้านคน โดยการฟื้นตัวของรายได้ท่องเที่ยวคงค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้หากจะให้ฟื้นตัวเต็มที่ น่าจะเป็นในปี 2566 แต่หลักสิบล้านคนขึ้นไปปีหน้าน่าจะเห็นได้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
ขณะที่ด้านการบริโภคที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมากทั้งจากนักท่องเที่ยวที่หายไป และคนไทยเองที่กระทบจากที่มีมาตรการล็อกดาวน์ มีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการบริโกคมีสัดส่วน 50% ของ GDP ดังนั้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงอัดเม็ดเงินผ่านมาตรการการใช้จ่ายต่างๆของภาครัฐ มีการออกกฎหมายกู้เงินไป 2 ฉบับ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายเยียวยาให้ประชาชนไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกส่วนคือ รัฐบาลช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง ผ่านโครงการคนละครึ่ง มาตรการช็อปดีมีคืน ฯลฯ
ส่วนภาคการส่งออกปีนี้ถือว่าทำได้ดี ทางสภาผู้ส่งออกทางเรือประมาณการว่าจะโตได้ 15% สอดคล้องกับรัฐบาลประเมิน ส่วนปีหน้าคาดว่าจะโตได้ 5-6% ถือว่าใช้ได้ ดังนั้นปีหน้าการส่งออกยังคงช่วยนำรายได้เข้าประเทศได้ดี ขณะที่ภาคที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากที่ผ่านมา อย่างภาคเกษตรปลายปีนี้ ก็มีเม็ดเงินจากรัฐบาลเริ่มออกคือ โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ซึ่งเฉพาะข้าว ในเดือน ธ.ค.มีเม็ดเงินถึง 1.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยังมียางพาราอีก ทั้งหมดนี้จะไปช่วยทำให้มีการใช้จ่ายในภาคชนบท
"เราเห็นดัชนีต่างๆดีขึ้นเรื่อยๆ ด้านการบริโภค มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการบริโภคเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน และ สูงสุดในรอบ 7 เดือน ก็ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับเรา ส่วนด้านภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน"
สำหรับด้านการลงทุนในปีงบประมาณ 2565 จะมีเม็ดเงินภาครัฐส่วนนี้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทั้งงบฯ ลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินราว 6 แสนล้านบาท จากรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท และ จาก พ.ร.ก.กู้ ที่ยังมีเงินเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้สิ่งสำคัญในปี 2565 ต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งภายนอกค่อนข้างมาก ดังนั้น ต้องกลับมาพึ่งเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น โดยด้านหนึ่งส่งเสริมธุรกิจสมัยใหม่ ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่อีกด้านต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในภาคชนบท โดยใช้บทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้าไปช่วย ซึ่งรวมถึงการดูแลเอสเอ็มอี และการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้มากขึ้นด้วย
"วันนี้คลังผ่อนคลายระเบียบจัดซื้อจัดจ้างให้เอสเอ็มอีเข้าไปสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างได้ ต่อไปจะทำอย่างไรให้โมเดิร์นเทรดกับเอสเอ็มอีเชื่อมโยงกัน ซึ่งตอนนี้เทรนด์ดิจิทัลมาแล้วจะพัฒนาเชื่อมตรงนี้ เป็นดิจิทัลซัพพลายเชน ไฟแนนซ์เชียล จะเชื่อมโยงทำให้เอสเอ็มอีได้เงินจากการขายของได้ทันที"