นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวว่า ตามที่เว็ปไซด์แนวหน้าออนไลน์ได้เผยแพร่ข่าวเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสมาชิก เดินทางมาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี
เพื่อคัดค้านการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ หรือ Thailand Future fund (กองทุน TFF) สคร. ขอชี้แจงดังนี้
1. การจัดตั้งกองทุน TFF เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก แต่รัฐมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและหนี้สาธารณะ ดังนั้น การระดมทุนผ่าน TFF ซึ่งไม่ถือว่าเป็น
หนี้สาธารณะ จึงถือเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เกิดได้เร็วขึ้น ลดภาระการคลังระดับประเทศ ลดการพึ่งพิงเงินกู้ และเงินงบประมาณ ทำให้รัฐสามารถจัดสรรเงินงบประมาณไปลงทุนในโครงการทางสังคมที่จำเป็นอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น การศึกษา สาธารณสุขได้
2. การนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้ามาระดมทุนผ่านกองทุน TFF เนื่องจาก กทพ. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ และมีทรัพย์สินที่มีรายได้ที่มั่นคงแน่นอนและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต รวมทั้ง กทพ. มีความต้องการเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ดังนั้น กองทุน TFF เป็นโอกาสของ กทพ. ที่จะมีแหล่งเงินทุนสำหรับลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ กทพ. ในระยะยาว
3. ตามที่ สรส. ได้มีประเด็นว่า “ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูงถึงร้อยละ 8 อาจทำให้สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหา" สคร. ขอชี้แจงว่า ต้นทุนในการระดมทุนด้วยกองทุน TFF เหมือนกับการระดมทุนด้วยวิธีออก Infrastructure Fund (IFF) ซึ่ง กทพ. มีแผนการระดมทุนด้วย IFF อยู่แล้ว ซึ่งทั้งกองทุน TFFและ IFF เป็นรูปแบบ
การระดมทุนด้วยตราสารทุน (Equity) ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบกับการกู้ยืมเงิน (Debt) ซึ่งการระดมทุนของกองทุน TFF ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ทำให้ภาครัฐมีเพดานหนี้สาธารณะเหลือไว้ใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ การระดมทุนผ่านกองทุน TFF ในอนาคตจะมีการนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายเข้ามาระดมทุนทำให้มีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลให้กองทุน TFF มีต้นทุนทางการเงินถูกกว่าที่ กทพ. ออก IFF เอง
สำหรับการจ่ายดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูงถึงร้อยละ 8 ต่อปี ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ การจำหน่ายหน่วยลงทุนโดยใช้กระแสรายได้ของ กทพ. ดังกล่าวจะทำในลักษณะของให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเข้ามาประมูล (Book Build) ทำให้ต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการแข่งขันของเอกชน
ผู้เข้ามาลงทุน และการจ่ายผลตอบแทนของกองทุน TFF เป็นการจ่ายผลตอบแทนในลักษณะตัดจำหน่ายต้นเงินและผลตอบแทนในคราวเดียวกันจนสิ้นสุดอายุสัญญา นอกจากนี้ เงินที่ กทพ. ได้รับจากการระดมทุนผ่านกองทุน TFF กทพ. สามารถนำไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับ กทพ. ได้
4. สำหรับประเด็นเรื่อง การแปลงรูปแบบการลงทุนของรัฐบาลต่อการลงทุนพัฒนาบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ สคร. ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า การระดมทุนผ่านกองทุน TFF เป็นการระดมทุนโดยการขายกระแสรายได้ในอนาคต ไม่เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) และไม่ใช่การขายทรัพย์สินของภาครัฐ โดยทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นของ กทพ. ทั้งหมด และอยู่ภายใต้การกำกับและการดำเนินงานของ กทพ. ซึ่งมีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะ และยังเป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อให้ กทพ. สามารถให้บริการสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการจราจรของประเทศได้มากขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจของ กทพ. อยู่แล้ว
5. กระทรวงการคลังได้มีการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้รัฐวิสาหกิจนำโครงการเข้ามาระดมทุนผ่านกองทุน TFF โดยมีมาตรการรองรับที่จะดูแลไม่ให้มีผลกระทบกับผลตอบแทนพนักงาน รวมทั้งได้เตรียมแนวทางในการรองรับการขาดสภาพคล่อง (หากมี) ซึ่งถือเป็นหน้าที่ปกติที่กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้ดูแลด้านการเงิน
จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้แก่รัฐวิสาหกิจให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ