เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่กลุ่มทอผ้า “สิริลาวา” เลขที่ 174 บ้านกระมัลพัฒนา หมู่ 6 ต.โพธิ์วงศ์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ หลังจากทราบว่า กลุ่มทอผ้ากลุ่มนี้ใช้สีจากดินภูเขาไฟย้อมผ้าทอมือ ตัดเป็นผลิตภัณฑ์ เสื้อ กางเกง กระโปรง หมวก กระเป๋า ส่งขาย ทำให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เสริม ไปถึงได้พบกับนาง กัญณภัทร จันทะมั่น ประธานกลุ่มทอผ้า “สิริลาวา หรือกลุ่มศรีลาวา ที่กำลังนำสมาชิกทำการย้อมสีผ้าด้วยดินภูเขาไฟ ออกมาต้อนรับ ขณะนั้น มีกลุ่มผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานด้วย
นางกัญณภัทร จันทะมั่น ประธานกลุ่มทอผ้าสิริลาวา กล่าวว่า กลุ่มของพวกเรา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2559 เนื่องจาก พื้นที่หมู่บ้านของพวกเราเป็นหมู่บ้านที่ทำการเกษตร ทำนา และปลูกไม้ผล อย่างลำไยจะมีเยอะ มีทุกบ้าน ต่อมา เกิดปัญหาผลไม้ล้นตลาด ตนพร้อมด้วยเพื่อนบ้านได้เก็บลำไยที่มีผลผลิตล้นตลาด ไปตระเวนขายตามหมู่บ้านอื่น จนวันหนึ่งไปขายในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ ได้ไปเจอกลุ่มสตรีทอผ้าลายลูกแก้ว ที่บ้านนิคม เขต 7 หมู่ที่ 6 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอยุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ จึงเกิดความสนใจ และตัดสินใจชวนเพื่อนบ้านไปดูงานที่กลุ่มสตรีทอผ้าลายลูกแก้วดังกล่าว
ประธานกลุ่มทอผ้าสิริลาวา กล่าวต่อไปว่า จากนั้น ผู้รู้ได้แนะนำให้สมัครขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่ม OTOP ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอขุนหาญ จึงมาสมัครขึ้นทะเบียนกลุ่ม OTOP ในปี พ.ศ. 2560 โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มผ้าไหมทอผ้าพื้นบ้านกี่กระตุก ตำบลโพธิ์วงศ์” เริ่มก่อตั้งครั้งแรก มีสมาชิก 7 คน จนถึงทุกวันนี้กลุ่มทอผ้าสิริลาวา มีสมาชิกทั้งหมด กว่า 30 คนแล้ว มีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มดังนี้ 1. เสื้อผ้าสำเร็จรูปหญิง 2. ผ้ายกดอก 3. ผ้าฝ้ายลายลูกแก้วย้อมคราม 4. ผ้าไหมมัดหมี่ 5. ผ้ามัดหมี่ 6. ผ้าคลุมไหล่ผ้าฝ้ายย้อมคราม 7. ผ้าย้อมดิน สิริลาวา ในห้วงปี พ.ศ. 2562 จังหวัดศรีสะเกษ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ มีนโยบายในการพัฒนาผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้ชื่อว่า “ผ้าเบญจศรี” (ผ้า 5 สี) ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ เป็นดินแดนภูเขาไฟ มีดินที่เป็นสีแดง น้ำตาล จึงให้นำมาย้อมผ้า จนเป็นผ้าสีลาวา ที่ใช้เรียกในปัจจุบัน ในพื้นที่อำเภอขุนหาญ เป็นดินแดนภูเขาไฟ มีดินที่เป็นสีแดง น้ำตาล จึงให้นำมาย้อมผ้า จนเป็นผ้าสีลาวา ที่ใช้เรียกในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาส่งจำหน่าย ทำให้สมาชิกของกลุ่มพวกเรามีรายได้เสริมเข้ามาอีกปีละไม่น้อย
“ผ้าสิริลาวา คือการย้อมผ้าสีธรรมชาติ ศรีลาวา ที่ใช้ดินภูเขาไฟ (แหล่งกำเนิดทุเรียนภูเขาไฟ) มาย้อม และเทคนิคการย้อมสีให้คงทน รวมถึงเรื่องราวของผ้าที่ย้อมสีดินภูเขาไฟ โดยใช้ไม้มงคล 9 ชนิด ได้แก่ ใบยอ ใบคูณ ใบพะยูง ใบสักทอง ไผ่ศรีสุข มะยม ว่านเศรษฐีเงินล้าน นางกวัก และต้นกล้วย มาเป็นส่วนหนึ่งในการย้อมผ้าให้สีคงทน มีกลิ่นหอมและเป็นสิริมงคล ซึ่งกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพสินค้า, การทอผ้าด้วยกี่กระตุก “ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว” ผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ, การแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย การแส่วผ้า หรือการปักผ้าให้เป็นลายไทย และรูปต่างๆ เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์, การวางรูปแบบในการรองรับการเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว กลุ่มของพวกเราได้ขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งด้านตัวผลิตภัณฑ์ การตลาดการออกแบบดีไซน์ และจุดเช็คอินเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด สินค้าภูมิปัญญาของชาวจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วประเทศต่อไป” นางกัญณภัทร กล่าว
ทีมข่าวศรีสะเกษ