รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการเปิดการจราจรบนสะพานไทย – เบลเยี่ยม ฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหัวลำโพงให้รถวิ่งได้ตามปกติแล้ว แต่ฝั่งขาออกมุ่งหน้าคลองเตยซึ่งได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก กทม. จึงได้ปิดเพื่อทำการซ่อมแซมและปรับปรุงโดยคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 1 เดือนนั้น ขณะนี้ กทม. ได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมผิวจราจรฝั่งขาออกด้านนอกส่วนที่ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ จนอยู่ในสภาพปกติ และได้ทำการทดสอบการรับน้ำหนัก โดยการติดตั้งอุปกรณ์และทดสอบเสมือนจริงเพื่อดูพฤติกรรมของสะพานฯ ซึ่งผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ และสามารถเปิดใช้งานช่องการจราจรฝั่งขาออกด้านนอกเพิ่มเป็นการชั่วคราวได้อีก 1 ช่องทาง โดยจะเปิดการจราจรในเช้าวันที่ 6 มี.ค. เวลา 06.00 น. ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรด้านล่างสะพานฯได้มากขึ้น หลังจากนั้นก็จะกำหนดแนวทางวิธีการซ่อมถาวร และจะแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบอีกครั้งว่าเมื่อไรและจะดำเนินการอย่างไร โดยจะให้การซ่อมแซมสะพานฯแบบถาวรส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
ด้าน ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจและทดสอบสะพานฯในครั้งนี้ได้ใช้เครื่องมือที่ตรวจวัดการสั่นไหวของอาคารเพื่อดูค่าของการสั่นไหว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครื่องมือตรวจวัดการเคลื่อนตัวด้านข้างและแนวดิ่ง จาก บริษัท IMMS ซึ่งขณะขับรถจะไม่รู้สึก ทั้งนี้การทดลองจะใช้รถบรรทุกน้ำหนักขนาดตั้งแต่ 12 ตัน 15 ตัน และ18 ตัน วิ่งผ่านสลับกับจอดแช่น้ำหนักบนสะพานในบริเวณที่ได้รับความเสียหายเพื่อประเมินความสั่นไหวในขณะที่มีรถวิ่งจริง อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการใช้สะพานไทย – เบลเยี่ยม กรุงเทพมหานครยังคงเปิดให้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถยนต์เล็ก 4 ล้อวิ่งบนสะพานเท่านั้น ส่วนรถ 6 ล้อขึ้นไปขอความร่วมมืองดวิ่งบนสะพานโดยเด็ดขาด เนื่องจากการรับน้ำหนักมากๆ อาจมีผลต่อสะพานในช่วงที่ยังมีการซ่อมแซมได้