กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งนโยบายและสรรหาแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม จับมือกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม หรือ METI ประเทศญี่ปุ่น หารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่น เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่าง ๆ จากนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) ควบคู่กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) โดยร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังเผยถึงสถานการณ์ในปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังคงเชื่อมั่นการลงทุนในไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนโครงการต่าง ๆ อันดับ 1 เฉียด 7 หมื่นล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางในการฟื้นฟู รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้หารือแนวทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กับ นายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงและผันผวนที่เกิดขึ้น โดยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ร่วมกับนโยบายการลงทุนเอเชีย-ญี่ปุ่นเพื่ออนาคต (ASIA-Japan Investing for the Future Initiative : AJIF) โดยกำหนดเป็นกรอบความร่วมมือภายใต้ชื่อ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกระตุ้นการเติบโตให้กับ SME และการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน สร้างความเชื่อมโยง และพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค รวมถึงแลกเปลี่ยนศักยภาพที่โดดเด่นของทั้งไทยและญี่ปุ่นเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในมิติต่าง ๆ ร่วมกัน
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ Framework Document on Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth จะมีใน 3 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและการสร้างขีดความสามารถในทุนมนุษย์เป็นการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ การเดินอากาศ โลจิสติกส์ ดิจิทัล ศูนย์กลางด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อส่งเสริมการร่วมกันสร้างเพื่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้สำหรับวิศวกรในโรงงานอัจฉริยะ 2.ด้านการเร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นการร่วมมือกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ในการแนะนำการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เชื่อมโยงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระหว่างไทยและญี่ปุ่นผ่านความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การจับคู่ธุรกิจ และแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น 3.ด้านการร่วมกันสร้างห่วงโซ่อุปทาน เป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปรับปรุงคุณภาพและมูลค่าของห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานหมุนเวียนและสีเขียว
“การดึงความร่วมมือจากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญถือเป็นแนวทางที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากสามารถหยิบยกสิ่งที่ประสบความสำเร็จ หรือจุดแข็งต่าง ๆ มาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที สำหรับในส่วนของประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นพันธมิตรของไทยมาอย่างยาวนานนั้น ไทยมีความมุ่งหวังที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นมีการพัฒนามาสร้างขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อีกทั้งยังต้องการที่จะยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทั้งที่เป็นแรงงาน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับบริบทโลกที่ปลี่ยนแปลง”
โดยในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีโครงการความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น อาทิ
· โครงการจัดตั้งศูนย์ต้นแบบการจัดการซากยานยนต์แบบครบวงจรในประเทศไทย หรือ โครงการ “Establishment of Comprehensive End-of-Life Vehicles (ELVs) Management System in Thailand”การกำจัดขยะรถยนต์ไทยกำลังประสบปัญหาอย่างมาก โครงการ “การศึกษาเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ร่วมกับการนิคมฯ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งจะช่วยตอบโจทย์นโยบาย BCG ของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
· โครงการ Lean Automation System Integrator LASI (ลาซี่), โครงการ Lean IoT Plant Management and Execution LIPE (หลีเป๊ะ) และโครงการ Smart Monosukuri (สมาร์ท โมโนซูกุริ) ที่เข้ามาพัฒนาศักยภาพบุคลากรยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เป็น SI (System Integrator) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัย ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ AI IoT ซึ่งเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพการผลิต
นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาจะเกิดภาวะวิกฤตที่อาจส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่น แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยจากการศึกษาข้อมูลของ BOI พบว่าแหล่งที่มาของมูลค่าเงินลงทุนในโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนมาจากญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 19 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ (เงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) อาทิ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี (PET Resin)มูลค่า 3,062 ล้านบาท กิจการผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ มูลค่า 2,597 ล้านบาท กิจการวิจัยและพัฒนา (การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์) มูลค่า 1,990 ล้านบาท กิจการผลิตตลับลูกปืนสำหรับยานพาหนะ มูลค่า 1,680 ล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับ การส่งเสริมมากที่สุด 125 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 67,817 ล้านบาท