นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ(เทิร์น อะราวน์) ภายใต้งบประมาณ 630 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่กำลังมีปัญหาอยู่ 17,000 ราย ให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้นั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการจะเป็นภาคการผลิต จำนวน 7,000 กิจการ ซึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ส่วนภาคการค้าและบริการ จะมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)เป็นผู้ดูแล โดยส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าธนาคารของรัฐ
สำหรับหลักเกณฑ์คัดเลือก ผู้ประกอบการที่ กสอ.กำหนดไว้ ประกอบ ด้วย 1.เป็นกิจการที่ประสบปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินธุรกิจในรอบ 6 เดือน มียอดขายหรือกำไรลดลง โดยพิจารณาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าสาธารณูปโภค ยอดการสั่งซื้อ-ขายวัตถุดิบ ฯลฯ 2.เป็นนิติบุคคล/มีการจดทะเบียนการค้า 3.มีผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทย ร้อยละ 51 ขึ้นไป 4.ดำเนินธุรกิจ 3 ปีขึ้นไป 5.มีที่ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดที่ยื่นใบสมัคร 6.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย 7.ไม่เป็น กิจการในเครือข่ายของบริษัทแม่ 8.เป็นธุรกิจที่ไม่ขัดต่อ ศีลธรรม
โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการ เอสเอ็มอี เทิร์น อะราวน์ โดยล่าสุดได้แต่งตั้ง คณะทำงานย่อยระดับจังหวัด เพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 7,000 กิจการจากทั่วประเทศ
นายอาทิตย์ กล่าวอีก ว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้นโยบาย SMEs เป็นวาระแห่งชาติโดยมีแนวทางปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม ซึ่งใช้ประโยชน์จากที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนยกระดับให้ SMEs เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)ขยายตัวร้อยละ 1 ภายในปี 2559 คิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท
“ช่องทางหนึ่งที่น่าจะเกิดประโยชน์ได้สูงสุด และสอดคล้องตามที่รัฐบาลกำหนดไว้คือ การพัฒนาตามแนวทาง Industry 4.0 ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ใช้ระบบการจัดการทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพสินค้า รวมถึงพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะมากขึ้น รวมทั้งใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยกระบวนการการผลิต แนวทาง Industry 4.0 จะถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 2 ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการเพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติอยู่ขณะนี้”
รวมทั้งจะพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต้องเพิ่มบทบาทอุตสาหกรรมและบริการจากยุคที่ 2 ไปสู่ยุคที่ 3 เพื่อหนีห่างประเทศเพื่อนบ้าน จากที่พึ่งพาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไปสู่การเพิ่มความเข้มแข็งและสัดส่วนความเป็นเจ้าของของคนไทยมากขึ้น เพื่อพัฒนาประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง