วิจัยกรุงศรีรายงานว่าการบริโภคอาจชะลอลงในระยะสั้น แม้ความเชื่อมั่นในช่วงปลายปีก่อนทยอยปรับขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 46.2 จาก 44.9 เดือนพฤศจิกายน โดยปรับดีขึ้นในทุกองค์ประกอบ ปัจจัยหนุนจากผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง และการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมในช่วงกลางเดือนธันวาคมเพื่อหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่
ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจจะสะดุดลงในช่วงต้นปี เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น และผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 จากสายพันธุ์โอมิครอนที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของไทยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐาน คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะแตะระดับสูงสุดในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายจึงอาจชะลอลงเพียงในระยะสั้น เนื่องจาก (i) การฉีดวัคซีนที่กว้างขวางขึ้น และการฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความรุนแรงของการระบาดรอบนี้ (ii) คาดว่าจะไม่มีมาตรการล็อคดาวน์ และ (iii) การบริโภคมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งโครงการช้อปดีมีคืน คนละครึ่งเฟส 4 และเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ราว 1.4 แสนล้านบาท
ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นต่อเนื่อง การใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหลักเริ่มทยอยกลับสู่ช่วงก่อนเกิดการระบาดแล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2564 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 86.8 จาก 85.4 เดือนพฤศจิกายน ผลบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังจากทางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดเพิ่มเติม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทางภาคการผลิต การค้า และการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เติบโตดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
การฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศช่วยหนุนให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น และล่าสุดอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบัน โดยภาพรวมแม้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 (เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 65.8% vs ก่อนระบาดเฉลี่ยอยู่ที่ 67.6%) แต่เริ่มมีบางอุตสาหกรรมสำคัญที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตกลับไปสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ เวชภัณฑ์ยา แผงวงจรไฟฟ้าและเซมิคอนดัคเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ขณะเดียวกันการใช้กำลังการผลิตในบางอุตสาหกรรมกำลังเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดการระบาด ได้แก่ HDD, เครื่องมือแพทย์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ซึ่งคาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่ 5% บวกกับการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของการผลิตและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในปีนี้