นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการตามแผนงานการพัฒนา “กรุงเทพบูรณาการ ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต เฟส 2-5 ย่าน 10 โครงการ” ประกอบด้วย
“ย่านศูนย์กลางธุรกิจ” ได้แก่ 1.ถนนสาทรและคลองสาทร (ช่องนนทรี-ลุมพินี) 2.ถนนสีลม (แยกนราธิวาส-ถนนเจริญกรุง) “ย่านเมืองเก่า” ได้แก่ 1.ถนนเยาวราช (คลองโอ่งอ่าง-วงเวียนโอเดียน-คลองผดุงกรุงเกษม) 2.ส่วนด้านล่างสะพานพระปกเกล้า “ย่านธนบุรี” ได้แก่ ถนนบรมราชชนนี (สะพานพระปิ่นเกล้า-เซ็นทรัลปิ่นเกล้า-ซอยรุ่งประชา)
“ย่านเศรษฐกิจใหม่” ได้แก่ 1.ถนนสุขุมวิท (แยกราชประสงค์-แยกอโศก) 2.ถนนราชดำริ (แยกราชประสงค์-ถนนพระราม 4) และ 3.แยกอโศก-แยกพระโขนง
“ย่านนวัตกรรมและศูนย์การแพทย์” ได้แก่ 1.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (รอบอนุสาวรีย์ และ 4 เกาะ) 2.ซอยโยธี (ถนนพญาไท-ถนนพระราม 6)
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า โดยวันนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล และสำนักงานเขตในพื้นที่ ประสานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
อาทิ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (มหาชน) จำกัด การไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวง ลงพื้นที่สำรวจ “ย่านเศรษฐกิจใหม่” ได้แก่ 1.ถนนสุขุมวิท (แยกราชประสงค์-แยกอโศก) 2.ถนนราชดำริ (แยกราชประสงค์-ถนนพระราม 4) และ 3.แยกอโศก-แยกพระโขนง เพื่อออกแบบทางเท้าให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่
ซึ่งปัจจุบันถนนเพลินจิต ช่วงจากแยกราชประสงค์ถึงทางรถไฟสายแม่น้ำ พื้นที่เขตปทุมวัน และถนนสุขุมวิท ช่วงจากทางรถไฟสายแม่น้ำถึงแยกพระโขนง พื้นที่เขตวัฒนาและเขตคลองเตย สภาพผิวจราจรและทางเท้าบริเวณดังกล่าวมีสภาพชำรุดและทรุดตัว อีกทั้งทางเท้าบางจุดคับแคบ ไม่ราบเรียบเป็นระดับเดียวกัน ตลอดจนทางข้ามถนนบางจุดไม่สะดวกสำหรับผู้พิการ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
กรุงเทพมหานครจึงดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้า เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงผู้สูงอายุและคนพิการในการเดินทางสัญจร รวมทั้งเป็นการเสริมภาพลักษณ์แก่กรุงเทพมหานคร ตามแผนงานการพัฒนา “กรุงเทพบูรณาการ ฟื้นเมือง เชื่อมย่าน สานอนาคต เฟส 2-5 ย่าน 10 โครงการ”
โดยสำนักการโยธาและสำนักงานเขตในพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนและประชาคมในพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกส่วนของแต่ละถนน สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐาน บทบาทความสำคัญของพื้นที่ สำนักการโยธาประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคสำรวจทางเท้า สายไฟฟ้า สายสื่อสาร ตู้ชุมสายโทรศัพท์ แนววางท่อประปาที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อดำเนินการยุบจุดที่ไม่ใช้งาน ย้ายไปยังจุดอื่น ยกให้สูงขึ้นไป สำนักสิ่งแวดล้อมสำรวจต้นไม้ริมถนนและสวนหย่อม สำนักการจราจรและขนส่งสำรวจสภาพการจราจร ป้ายสัญญาณจราจร สำนักการระบายน้ำสำรวจฝาท่อระบายน้ำ ระบบระบายน้ำในทางเท้าและถนน
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะรวบรวมสรุปผลจากการลงพื้นที่สำรวจย่านดังกล่าว พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน มาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพ ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ร่วมกัน