นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่งเฟส 4 ที่จะปรับเวลาการเริ่มโครงการให้เร็วขึ้นนั้น ยังเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์นี้ไม่ทัน เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ พิจารณาเรื่องการใช้เงินก่อน โดยโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ต้องใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท ซึ่ง สศช. ต้องพิจาณาเห็นชอบก่อน
ทั้งนี้ การปรับเวลาโครงการคนละครึ่งเฟส 4 จากเดิมจะเริ่มวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 ให้เร็วขึ้นเป็นลงทะเบียนยืนยันตัวตนในวันที่14 ก.พ. และเริ่มใช้วงเงินได้ 21 ก.พ. 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาสินค้าแพง ถือว่าเป็นไม่ได้ช้าเกินไป เนื่องจากต้องมีขั้นตอนที่เตรียมการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปฏิบัติมาภายหลัง
นอกจากนี้ในส่วนของแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มนั้น รมว.การคลัง ระบุว่า ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เพราะปัจจุบันรัฐบาลได้มีการดำเนินการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น อาทิ ราคาพลังงาน และราคาสินค้าต่าง ๆ อยู่แล้ว
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอาจจะยืดระยะเวลาดำเนินโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ไปเป็น 3 เดือน จากเดิมกำหนดไว้ 2 เดือน รวมถึงหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขการดำเนินโครงการทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ในหลักการต้องพิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยรายละเอียดทั้งหมดยังต้องรอสรุปให้เรียบร้อยก่อน
“ไม่อยากให้มองว่าโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 จะใช้เงินในการดำเนินโครงการมากขึ้นหรือน้อยลง เพราะหากพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว สถานการณ์ยังคงอ่อนไหว ก็มีความเป็นไปได้ที่ระยะเวลาดำเนินโครงการจะมากเดือนขึ้น แต่หากเศรษฐกิจเริ่มแข็งแรงขึ้น โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ระยะเวลาดำเนินโครงการก็อาจจะลดลง ทุกอย่างสามารถยืดหยุ่นได้ โดยหากระยะเวลาโครงการมากขึ้น วงเงินที่ใช้ก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว รายละเอียดทั้งหมดกำลังประชุมกันอยู่ ต้องรอสรุปอีกที” นายสันติ กล่าว
ทั้งนี้ มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้ มาตรการที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุด คือการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการผ่านมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งมีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 28 ล้านคน ช่วยให้การบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะในระดับฐานรากดีขึ้น
นอกจากนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาถึงความจำเป็นเกี่ยวกับการลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ โดยได้มอบหมายให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่จะตั้งใจมุ่งมั่นลดภาษีการนำเข้าอาหารสัตว์เหล่านี้อย่างเดียว แต่ให้ไปดูว่ามีทางเลือกอื่นด้วยหรือไม่ เช่น ตรวจดูว่ามีการกักตุนอาหารสัตว์ภายในประเทศหรือไม่ หากตรวจแล้วพบว่าไม่มีการกักตุน ทุกอย่างเป็นสถานการณ์จริง การนำเข้าอาหารสัตว์ต่าง ๆ ก็มีความจำเป็น
“เดิมทีไทยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก WTO อยู่แล้ว แต่หากมีการนำเข้ามากขึ้นก็อาจจะต้องเสียภาษีไปตามระบบ ก็ได้กำชับให้กรมศุลกากรไปพิจารณาอย่างรอบคอบ หากมีการนำเข้าจริง จะต้องไม่กระทบกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วเหลือง เป็นต้น ต้องพิจารณาให้ทุกส่วนสมดุลกันมากที่สุด”