ทีเส็บเปิดศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ (Thailand MICE One Stop Service) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://www.thaimiceoss.com ช่วยผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในและต่าง ประเทศให้พร้อมสำหรับการจัดงานได้อย่างสะดวกราบรื่น เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นโอกาสสร้างอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้แข็งแกร่ง
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หรือ ทีเส็บ ได้จัดงานแถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ (Thailand MICE One Stop Service) ในรูปแบบออนไลน์ www.thaimiceoss.com เพื่อบริการข้อมูลด้านกฎระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินการขอใบอนุญาตและใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมไมซ์ พร้อมจัดเสวนาในหัวข้อ “ก้าวใหม่ของไมซ์ไทย...The Now and Next of MICE in Thailand”
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สสปน. กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ นับเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญของทีเส็บจากการเป็นผู้ให้การสนับสนุนไปสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการจัดงานไมซ์ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่ง ขันของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สำคัญในระดับโลก
“ทีเส็บมีแผนประมูลสิทธิ์งานที่มีศักยภาพสูง เข้ามาจัดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงานระดับโลก (Global Agenda) หรืองานแสดงสินค้าชั้นนำของโลก เพื่อช่วงชิงโอกาสในระดับสากล ดังนั้น เว็บไซต์ www.thaimiceoss.com หรือ ศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ จึงนับเป็นก้าวใหม่ของไมซ์ไทย เพราะจะช่วยอำนวยสะดวกให้กับผู้ประกอบการไมซ์ เติมเต็มให้ทุกการจัดงานไมซ์ในประเทศไทยเป็นเรื่องง่าย ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศในภูมิภาค ก่อให้เกิดมูลค่าการซื้อขาย สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง” ผอ.สสปน. กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไมซ์ได้สร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างสูง ปี 2562 อุตสาหกรรมไมซ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่ายจากการจัดงานรวมมูลค่ากว่า 559,840 ล้านบาท คิดเป็น GDP=3.27% เกิดการจ้างงาน 321,918 อัตรา
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สสปน. สายงานพัฒนาและนวัตกรรม กล่าวว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดกิจกรรมไมซ์ คือการอำนวยความสะดวก ซึ่งเว็บไซต์ www.thaimiceoss.com จะเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาและข้อจำกัดในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ โดยได้รวบรวมข้อมูลและกฎระเบียบภาครัฐของ 14 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดงานไว้ที่เดียว ผู้ประกอบการไมซ์ที่ต้องการจะนำเข้าสินค้า สิ่งของ และบุคคล เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์แล้วจะได้รับข้อมูลและมีความเข้าใจในขั้นตอนต่าง ๆ มากขึ้น สามารถจะดำเนินการเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และราบรื่น
นายธานินทร์ ผะเอม ประธานอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่อการอำนวยความสะดวกเกี่ยว กับการจัดประชุมและนิทรรศการของประเทศ กล่าวว่า www.thaimiceoss.com จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมไมซ์ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงบริการของภาครัฐกับธุรกิจและภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ และผลักดันให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์ในระดับสากล
นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า การเปิดศูนย์ประสาน งานฯ นี้ ถือเป็นอีกวาระสำคัญของประเทศไทย ที่ สสปน. ได้ริเริ่มและผลักดัน เพื่ออำนวยความสะดวก คล่องตัว และรวดเร็ว สำหรับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเข้ามาประชุมวิชาการ หรือจัดการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล รวมถึงการจัดแสดงสินค้าในประเทศไทย ที่สามารถยื่นเรื่องที่จำเป็นในการเดินทางเข้าประเทศไทยในระยะสั้นหรือระยะยาว และการนำเข้าสิ่งของที่จะใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การขอวีซ่าเข้าประเทศ หรือการนำเข้าสินค้า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ของที่ระลึก โดยไม่ต้องไปเสียเวลาติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ประหยัดเวลา และที่สำคัญคือการสร้างความประทับใจแก่นักเดินทางต่างชาติที่จะเข้ามาสู่อาณาจักรไทยได้เป็นอย่างดี
www.thaimiceoss.com หรือศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์นี้ จะให้บริการด้านข้อมูลต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการไมซ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในเรื่องเกี่ยวข้องกับระเบียบปฏิบัติที่ผู้จัดงานไมซ์ควรรู้ กรณีที่จะต้องนำคนหรือผลิตภัณฑ์เข้ามาเพื่อการจัดงานในประเทศไทย อาทิเช่น การขอวีซ่า การขอใบอนุญาต พิธีการศุลากร การชำระภาษี ฯลฯ นอกจากนี้ เว็บไซต์ยังมีจุดเด่นด้านการออกแบบให้ดูทันสมัยสวยงาม ประมวลข้อมูลและขั้นตอนเกี่ยวกับกฎระเบียบของภาครัฐให้เข้าใจง่าย มีระบบการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน รวมถึงมีการอัปเดตสถานการณ์และมาตรการต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์