กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร แจ้งเตือนการติดต่อของไวรัสตับอักเสบชนิด เอ (Hepatitis A virus, HAV) ซึ่งไวรัสชนิดนี้ ค่อนข้างคงทนต่อสภาวะแวดล้อม จากการศึกษาการติดต่อในคน ระยะเวลาที่จะเกิดการติดเชื้อได้สูงสุดอยู่ในช่วงครึ่งหลังของระยะฟักตัว จนถึงประมาณ 2-3 วัน หลังจากเริ่มมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหมดระยะติดต่อ โดยเชื้อจะติดจากคนสู่คนโดยเชื้อเข้าสู่ปาก เชื้อจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย การระบาดของโรคนี้มักจะเกิดจากแหล่งโรคร่วมโดยสัมพันธ์กับการปนเปื้อนเชื้อในน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนจากผู้เตรียมอาหารที่เป็นพาหะของโรครวมทั้งรับประทานอาหารที่ไม่ได้ทำให้สุกหรือมีการจับต้องอาหารภายหลังปรุงสุก รวมทั้งนม สลัด หอยปรุงไม่สุก ที่เก็บจากน้ำ บริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อ ในเด็กเล็กมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการเพียงไม่กี่วัน แต่ถ้าเป็นในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่จะมีอาการเป็นสัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคนี้จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต อาการแทรกซ้อนของโรคที่พบได้แก่ ตับวายเฉียบพลันตัวเหลืองยาวนานจากการคั่งน้ำดีในตับ
สำหรับการรักษาหากมีอาการเล็กน้อยและหายได้เอง การรักษาเป็นเพียงประคับประคองป้องกันการขาดน้ำระดับน้ำตาลในเลือดต่ำภาวะเลือดออก และตับวาย