กระทรวงพาณิชย์ จับมือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชูบทบาท “นายกสมาคมการค้า” ยกให้เป็นแม่ทัพแถวหน้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยพร้อมภาครัฐ ภายใต้โครงการ Trade Association’s President Club (TAP Club) เชื่อมั่นในศักยภาพและเครือข่ายอันทรงพลังของสมาคมการค้าช่วยนำพาภาคธุรกิจให้รุดไปข้างหน้าด้วยความแข็งแกร่ง พร้อมรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกทุกด้านด้วยความมั่นใจ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “โลกเปลี่ยน...ความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญในอนาคต” ภายในงานอบรม Trade Association’s President Club (TAP Club) ครั้งที่ 1 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2560 ว่า “ในทศวรรษนี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายของโลกหลายด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยี : ที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและการดำรงชีวิตของคนในประเทศ ด้านสังคม : ที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนเกิดน้อยลงและมีแนวโน้มลดลงมาก ขณะที่เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ทำให้คนอายุยืนมากขึ้น ส่งผลคนวัยทำงานในตลาดแรงงานลดลง ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มสูงขึ้น ด้านการเมือง : สังคมมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำให้เกิดกระแสการต่อต้านการเมืองแบบดั้งเดิม ด้านเศรษฐกิจ : เกิดกระแสธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจโลกที่เน้นการส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งจากภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น นโยบายการค้าที่เน้นผลประโยชน์ภายในประเทศสหรัฐอเมริกา และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจากการที่ประเทศอังกฤษถอนตัวออกจาก EU(Brexit) ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป”
“กระทรวงพาณิชย์ ในบริบทของภาครัฐ ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าทุกระดับทั้ง Local, Regionalสู่ Global และได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคทางการค้า ที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อน จึงได้ประกาศยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ 20 ปี (2559 - 2579) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกโดยตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยเป็นผู้นำการค้าในระดับภูมิภาค และเป็นที่หนึ่งของโลกด้านการค้าขายสินค้าเกษตรนวัตกรรม สร้างความเข้มแข็งให้ทั้งธุรกิจและผู้บริโภค รองรับการดำเนินธุรกิจตามกลไกตลาดโลกและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย”
“ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้วางแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ 1) สร้างคลัสเตอร์เศรษฐกิจระดับจังหวัดและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกลไก Mini MOC ให้ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากกับภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานแบบประชารัฐ 2) การส่งเสริมและสนับสนุน SMEs สู่การเป็น “สมาร์ท เอ็นเตอร์ไพร์ส” ประกอบด้วย - Idea Commercialization การสนับสนุนความคิดและผลงานวิจัยไปต่อยอดดำเนินธุรกิจ - Smart Business Solution สร้างการเชื่อมโยงระหว่าง SMEs และ Startup ในการยกระดับการดำเนินธุรกิจสู่
“สมาร์ท เอ็นเตอร์ไพร์ส - Global Expansion ขยายธุรกิจ Startup สู่ต่างประเทศ และ Relaxing Law & Regulation Constraints ปรับปรุงกฎหมายที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ Startup ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทจำกัด (คนเดียว) และการพิจารณาทบทวนประมาณกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการแข่งขันที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล”
“3) การส่งเสริมธุรกิจบริการ โดยส่งเสริมกลุ่มภาคธุรกิจบริการที่มีศักยภาพอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (S-Curve) และกลุ่มธุรกิจบริการใหม่ (New S-Cueve) ประกอบด้วย 3.1) กลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ - ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร - ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ - ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ - ธุรกิจบริการด้านการศึกษา มุ่งสู่การเป็น Training Hubบุคลากรด้านการบริการของภูมิภาค - ธุรกิจบริการด้านนวัตกรรม - ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจบันเทิง 3.2) กลุ่มธุรกิจบริการใหม่เพื่อรองรับอนาคต ได้แก่ - ธุรกิจบริการให้คำปรึกษา เช่น Social Media Consulting - ธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจกำจัดของเสีย และธุรกิจบริการดิจิตัล และ 4) จัดตั้งศูนย์บริการกระทรวงพาณิชย์ (MOC Business Solution Center) เน้นการบูรณาการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจ เช่น ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจ (BAS) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE Center) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการยุคใหม่ (NEA) ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ”
“นโยบายต่างๆ ดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดประสิทธิภาพ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การจัดทำโครงการ Trade Association’s President Club (TAP Club) จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน”นายกสมาคมการค้า” ไปสู่การเป็น “ผู้นำเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไทย” ผ่านกลไกของสมาคมการค้าและต่อยอดธุรกิจระหว่างสมาคมการค้าด้วยกันในลักษณะ Value Chain เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดเกื้อกูลกันในการทำธุรกิจของสมาชิกสมาคมการค้า และสร้างรากฐานธุรกิจไทยให้เข้มแข็งในระยะยาว”
“TAP Club จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงถึงพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยมีผู้นำการขับเคลื่อนที่เป็นบุคคลสำคัญในภาคธุรกิจ คือ นายกสมาคมการค้า มาช่วยผนึกกำลังเพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ในขณะที่ “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” พันธมิตรอันยาวนานของกระทรวงพาณิชย์ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และช่วยให้หลายโครงการของกระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และครั้งนี้ก็เช่นกันที่ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ริเริ่มจัดทำโครงการ TAP Club ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มครั้งสำคัญของนายกสมาคมการค้า ที่ทุกท่านได้เสียสละเวลามาเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่ง และสามารถรับมือได้กับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจตามกลไกตลาดโลกและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SME ไทย ในการสร้างผลงานใหม่ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถ เสริมสร้างทักษะ และการเติมเต็มศักยภาพของ SME ให้เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก สู่การเป็น “สมาร์ท เอ็นเตอร์ไพร์ส” อย่างเต็มตัว”
“ทั้งนี้ การอบรมโครงการ Trade Association’s President Club (TAP Club) ในวันนี้ ถือเป็นการอบรมครั้งแรก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างบทบาทและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริหารสมาคมการค้าในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงให้เกียรติร่วมบรรยาย ได้แก่ พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมและรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บรรยายหัวข้อ : Digital Economy และ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) บรรยายหัวข้อ :ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560”
ครั้งที่ 2 จะเป็นกิจกรรม TAP Forum เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักธุรกิจชั้นนำของประเทศและผู้บริหารสมาคมการค้าให้สามารถนำความรู้หรือหลักวิชาการต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสมาคมการค้าให้เป็นผู้แทนภาคธุรกิจที่เข้มแข็ง โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2560 ณ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
และ ครั้งที่ 3 จะจัดอบรม TAP Member (Together is Power) เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเป็นเวทีกลางในการเสนอประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของแต่ละสมาคม จะจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ณ ศรีไทยเน็ทเวิร์ค