นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 – 24 กุมภาพันธ์ 2560 คณะผู้แทนกรมฯ ได้เข้าร่วมสัมมนา Asian Export Control Seminar ครั้งที่ 24 โดยร่วมเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันแนวคิดการจัดทำระบบบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (TCWMD) ของไทย เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ในการริเริ่มจัดทำระบบฯ ดังกล่าว ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมี Mr. Toshinao Nakagawa รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) Mr. Shunsuke Takei รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs: MOFA) และ Mr. Hisashi Riko ผู้บริหารศูนย์ข้อมูลการควบคุมความมั่นคงทางการค้า (Center for Information on Security Trade Control: CISTEC) เป็นผู้เปิดงาน โดยนานาประเทศที่มีระบบ TCWMD ที่แข็งแกร่งต่างเรียกร้องให้แต่ละประเทศปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ ๑๕๔๐ (UNSCR 154๐) ซึ่งจะต้องมีระบบ TCWMD ที่มีการบังคับใช้กฏหมายที่ครอบคลุมทุกเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เช่น การผ่านแดน การถ่ายลำ การเป็นคนกลาง การควบคุมเทคโนโลยี การใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้และผู้ใช้สุดท้ายกรณีสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัย (Catch-all Control) รวมถึงการใช้มาตรการ คว่ำบาตร (Sanctions)ปัจจุบันประเทศที่มีระบบ TCWMD มานานได้ก่อตั้งองค์กรสนับสนุนการพัฒนาระบบ TCWMD โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน การร่างกฏหมาย และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบฯ ให้แก่ภาคเอกชนแล้ว การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลระหว่างประเทศซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีระบบฯ หรืออยู่ระหว่างการพัฒนาระบบฯ ทั้งสิ้น ดังเช่น โครงการ EU P2P ของสหภาพยุโรป โครงการ EXBS ของสหรัฐอเมริกา กระทรวง METI และ องค์กร CISTEC ของญี่ปุ่น
นางดวงพรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนของประเทศในภูมิภาคอาเซียน หลายประเทศริเริ่มและพัฒนาระบบ TCWMD มากขึ้น เรื่อย ๆ โดยจะเห็นได้ว่าระบบ TCWMD ที่อยู่ระหว่างพัฒนาในยุคนี้มีความได้เปรียบในการนำวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศมาปรับใช้พัฒนาระบบ TCWMD ของตน ส่งผลให้ประเทศดังกล่าวมีแนวทางในการพัฒนา TCWMD อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีประเทศส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาต่างๆ ในการดำเนินงาน ดังเช่นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงาน และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างยากลำบาก รวมทั้งการขาดบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญในการตรวจสอบสินค้า DUI ภายในหน่วยงาน (In-house Specialists) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน
ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนไทยได้นำเสนอการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับหน่วยงานรัฐและสถาบันอุดมศึกษา 9 แห่ง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 เพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์คุณสมบัติจำเพาะของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากนานาประเทศและถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพแนวทางหนึ่งในการสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการแสดงศักยภาพด้านการบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ต่อสากล นอกจากนี้ นานาชาติยังยอมรับกระบวนการสร้างการรับรู้และความเข้าใจระบบ TCWMD ด้วยภาพหรือกราฟฟิกที่มีเนื้อหากระชับ และเข้าใจง่าย นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการแสดงความพร้อมและศักยภาพด้านการบริหารระบบ TCWMD ในอนาคต