เมื่อ วันที่ 31 ม.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ ในอาเซียน เลขที่ 170 บ้านไผ่ หมู่ 5 ต.ไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ผศ. ดร.กิจติพงษ์ ประชาชิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การสกัดเส้นใยจากเปลือกทุเรียน เพื่อการทอผ้าศรีลาวาใยเปลือกทุเรียน” สร้างแบรนด์ใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์จากใยเปลือกทุเรียนภูเขาไฟ โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน ต.ไผ่ อ.ราษีไศล และกลุ่มทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ บ้านท่าสว่าง ต.โนนสำราญ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เข้ารับการอบรมจำนวน 50 คน นายจำเนียร นนทะวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน ต.ไผ่ ให้การต้อนรับ ผศ. อุมาพร ประชาชิต อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรม
จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรและภูมิสังคมที่หลากหลาย และน่าสนใจ โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ มีรสชาติหวาน มัน กลิ่นไม่ฉุน เนื้อละเอียดละมุนลิ้น สีเหลืองทอง อร่อยจนได้รับคำชื่นชมจากคนไทยและต่างชาติ ว่าเป็นทุเรียนที่อร่อยไม่แพ้ทุเรียนจังหวัดอื่นในประเทศไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้เล็งเห็นถึงจุดแข็งและโอกาสที่จะพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษผ่านการสร้างนวัตกรรมผ้าทอไหมด้วยใยเปลือกทุเรียนภูเขาไฟ ให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัด จึงได้ร่วมกับ อบจ.ศรีสะเกษ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมี ม.ราชภัฏศรีสะเกษ และวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ดำเนินการวิจัย เพื่อจะช่วยให้ชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่มีโอกาสมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย 1. เพื่อศึกษาวิธีการกระบวนการพัฒนาต้นแบบผ้าศรีลาวาจากใยเปลือกทุเรียนภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษ 2. เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องแต่งกายจากผ้าใยเปลือกทุเรียนภูเขาไฟ ภายใต้แนวคิด “อารยธรรมไทศรีสะเกษ” 3. เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องประดับจากใยเปลือกทุเรียนภูเขาไฟ และ 4. เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์จากใยเปลือกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลและการตลาดออนไลน์ เพื่อรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ และเทศกาลอื่นๆ ตลอดทั้งปีของจังหวัดศรีสะเกษต่อไป
ทีมข่าวศรีสะเกษ