นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 กรมฯ ได้เข้าศึกษาดูระบบงานการบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ภายในองค์กรของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยและบริษัทในเครือบริษัทข้ามชาติ 4 กลุ่ม คือ ขนส่ง ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบเทียบความสอดคล้องกับ แนวทางการพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับระบบงาน ICP ภายใต้ร่าง พ.ร.บ. การบริหารการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ร่าง พ.ร.บ. TCWMD) ตามโครงการ ICP Industrial Onsite Visit
โดยหลักสากลและแนวทางการพิจารณาอนุญาตส่งออกสินค้า DUI แบบรายปี (Bulk Licensing) ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น บริษัทจะต้องมีระบบงาน ICP ตามข้อกำหนดของประเทศนั้น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศจะจัดแบ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญภายใต้ระบบงานฯ ให้เหมาะสมกับการส่งออกของประเทศตนเอง โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันไปแต่ยังคงครอบคลุมประเด็นควบคุมหลักเหมือนกัน ขณะนี้กรมฯ ได้บูรณาการข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องฯ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการข้างต้นในการร่างข้อกำหนดของระบบงาน ICP ของไทย ซึ่งแนวทางพัฒนากฎระเบียบประกอบด้วย 6 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือ (1) Commitment Management : การให้คำมั่นสัญญาจากผู้บริหารสูงสุดของบริษัทว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับการแพร่ขยาย WMD พร้อมทั้งประกาศให้พนักงานทุกระดับชั้นรับรู้โดยทั่วกัน (2) Trade Screening : กระบวนการตรวจสอบสินค้า ลูกค้า และการใช้สุดท้ายว่าปลอดภัยและไม่เกี่ยวข้องกับ WMD (3) Training : การจัดฝึกอบรมพนักงานภายในองค์กรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุม DUI ตลอดจนแนวปฏิบัติต่าง ๆ (4) Record Keeping : การจัดเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง DUI ของบริษัท รวมถึงเอกสารการขาย เอกสารการขนส่งสินค้า หรือเอกสารเกี่ยวกับการฝึกอบรม เป็นต้น เพื่อรองรับการตรวจสอบภายหลัง (5) Auditing : การตรวจสอบภายในของบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าการควบคุมสินค้า DUI เป็นไปตามที่กำหนด รวมทั้งการกำหนดมาตรการรองรับข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และ (6) Penalties and Reporting : การกำหนดบทลงโทษกรณีการกระทำการฝ่าฝืนกฏหมายเกี่ยวกับการควบคุม DUI