นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กทม.โดยสำนักการระบายน้ำ ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุม (พอช.) สำนักงานเขตจตุจักร และเจ้าหน้าที่ทหาร สังกัดกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และกองทัพภาคที่ 1 ร่วมลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจกับผู้รุกล้ำคลองเปรมประชากร บริเวณปากคลองลาดยาว เขตจตุจักร (ครั้งที่ 11) ซึ่งยังเหลือบ้านรุกล้ำที่ยังไม่ยินยอมรื้อย้าย จำนวน 3 หลัง
“จากการเจรจาสร้างความเข้าใจซึ่งมีการพูดคุยกันมาถึง 11 ครั้ง เจ้าของบ้านเข้าใจถึงความสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล และ กทม. จึงเปลี่ยนใจเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช. และจะรื้อย้ายบ้านรุกล้ำเพื่อให้สำนักการระบายน้ำดำเนินการก่อสร้างเขื่อนในวันที่ 5 เมษายน 2565 โดยขณะนี้พื้นที่คลองเปรมประชากร บริเวณถนนงามวงศ์วาน สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนได้ตลอดแนวคลองทั้ง 2 ฝั่งคลอง” นายณรงค์ กล่าว
รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.โดยสำนักการระบายน้ำดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากรตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ พัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย โดยโครงการมีการออกแบบวางผังพื้นที่ริมคลองให้มีความสอดคล้องกันทั้ง 6 องค์ประกอบสำคัญ ในการพัฒนา ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย การพัฒนาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน
ทั้งนี้ นายณรงค์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ถึงหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาวประมาณ 580 เมตร (ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562) ช่วงที่ 2 จากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาวประมาณ 5,000 เมตร (ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน ดำเนินการปี 2564-2565) ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาวประมาณ 10,000 เมตร (ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน ดำเนินการปี 2564-2566) และช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาวประมาณ 10,700 เมตร (ระยะเวลาก่อสร้าง 26 เดือน ดำเนินการปี 2563-2565)
“หากการก่อสร้างแล้วเสร็จตลอดแนวคลองเปรมประชากร จะช่วยเพิ่มความลึกและความจุปริมาณน้ำในคลองมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการการสัญจรทางน้ำและการระบายน้ำในคลอง ช่วยให้สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ได้ทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ สำนักการระบายน้ำ พร้อมติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสำนักงานเขตในพื้นที่จะเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในชุมชนให้เห็นความสำคัญของส่วนรวมและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการต่อไป” นายณรงค์ กล่าว