กำนันตึ๋ง กำนัน ต.ช่องสะเดา อ.เมืองกาญจน์ วอนกรมอุทยานฯ ส่งวิศวกร ลงพื้นที่จริงก่อนออกแบบสร้างรั้วกึ่งถาวร หลัง อบต.ออกแบบเสริมความแข็งแรงป้องกันช้างป่าสลักพระได้ 90% แต่ถูกแก้ไขแบบให้เล็กลง
จากกรณีบริษัทเอกชนได้รับงานประมูลในการสร้างรั้วกึ่งถาวรเพื่อป้องกันช้างป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ออกนอกพื้นที่มากินและทำลายพืชผลทางเกษตรของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดยรั้วดังกล่าวก่อสร้างเป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 19,410,000 บาท แต่ถูกช้างป่าดันล้มเสียหายจำนวนหลายต้น ลวดสลิงขาดหลายจุด
หลังจากสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวออกไป ทำให้ น.ส.สุนันทา จำปาเงิน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดกาญจนบุรี นายธนเกียรติ วัฒนศิลป์ นักสืบสวนการทุจริต ชำนาญการ ป.ป.ช.ภาค 7 พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันนี้ 9 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวสันต์ สุนจิรัตน์ หรือกำนันตึ๋ง กำนันตำบลช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ตำบลช่องสะเดาและตำบลวังด้ง ที่มีรอยต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้น ตอนนี้มีปัญหาหนักมากเนื่องจากช้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และจากการติดตามดูพฤติกรรมของช้างป่าในแต่ละกลุ่ม พบว่าจะมีลูกออกมาทุกปีหรือเกือบจะทุกปี
นี่คือปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาช้างล้นป่าออกนอกพื้นที่เข้าสู่ชุมชน และจากการติดตามพบว่าช้างป่าจะข้ามถนนและหากินอยู่ที่บริเวณริมถนน อีกทั้งมีการข้ามถนนไปมา ช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาช้างป่าได้ถูกรถยนต์ชนไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกช้างป่าเสียชีวิต และครั้งที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยังออกติดตามหาแต่ยังไม่พบ
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเราไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะที่ผ่านมาตนพร้อมผู้นำท้องถิ่นได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ออกลาดตระเวนร่วมกันเฝ้าระวังมาโดยตลอดจนตกผลึก จึงต้องมีการเดินทางไปศึกษาดูงานวิธีการป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่มาหลายที่ เพื่อนำมาเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้ช้างป่าออกมารบกวนพี่น้องประชาชนและไม่ให้ช้างป่าเดินข้ามถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุถูกรถชนหรือถูกไฟฟ้าช็อต จนเสียชีวิต
ที่ผ่านมาเราได้ไปดูแบบที่ห้วยสัตว์ใหญ่มา แล้วนำมาประยุกต์ด้วยการให้ช่าง อบต.ช่องสะเดาออกแบบเพิ่มเติมเพื่อให้รั้วป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่มีความแน่นหนาแข็งแรงมากกว่าแบบเดิมที่เราไปดูมา เมื่อออกแบบแล้วเสร็จก็ได้นำเสนอไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ให้เสนอไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชต่อไป
ซึ่งรั้วที่ทาง อบต.ช่องสะเดา ออกแบบนั้นตนเชื่อว่าได้มาตรฐานและมีความมั่นคงแข็งแรงมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อแบบส่งไปถึงกรมอุทยานฯแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าวิศวกรของกรมอุทยานฯไปแก้ไขแบบทำให้เสารั้วและเหล็กกันช้างมีขนาดเล็กลง และความคงทนก็น้อยลง เมื่อมีการก่อสร้างรั้วกึ่งถาวรที่ไม่มีความแข็งแรงทำให้เอาช้างป่าไม่อยู่ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้ในปัจจุบัน
ดังนั้นตนจึงต้องการให้หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะกรมอุทยานฯ เข้ามาเป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าโดยตรง ส่วนชาวบ้านเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบ ซึ่งการที่จะออกแบบทำรั้วป้องกันช้างป่านั้นตนขอให้ผู้ออกแบบได้เดินทางมาดูพื้นที่จริง ถึงจะเป็นวิศวกรเรียนจบสูงมาในระดับไหนก็ตามก็อยากให้ลงมาดูพื้นที่จริง เพื่อการออกแบจะได้เข้ากับสภาพพื้นที่จริงซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมช้างป่าได้
ซึ่งตรงนี้ในหลายๆภาคส่วนน่าจะไปดูงานแล้วนำมาเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่คิดแต่เพียงแค่ว่าตัวเองเองนั้นทำได้และมั่นใจว่าแบบที่ออกมามีความแข็งแรงกว่า เรื่องนี้ตนจึงแนะนำว่าผู้ออกแบบจะต้องไปดูงานที่อื่นก่อนว่าของเขาแข็งแรงในระดับไหนแล้วนำมาปรับปรุงประยุกต์เพิ่มความแข็งแรงให้กับสภาพพื้นที่จริงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
ถามว่าที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่าทุกครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่มานานกว่า 10 ปีแล้ว ทุกคนมีแต่ความทุกข์ที่หนักมาก เพราะเหมือนกับว่าอยู่ไปแล้วก็ไม่มีความหวังอะไรเลย เพราะเมื่อลงทุนทำไร่เกษตรกรแล้ว ก็ไม่เหลือให้เก็บผลผลิตเพื่อนำไปขาย เพราะถูกช้างป่ากินและทำลายหมด บางคนมีเหลืออยู่บ้างแต่ก็เพียงแค่เล็กน้อย
ถามว่าพี่น้องประชาชนนั้นรังเกียจช้างหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีใครรังเกียจ แต่เมื่อช้างป่าลงมาทำลายพืชผลทางการเกษตรก็จะมีความรู้สึกโกรธ แต่ทุกคนก็ไม่เคยคิดที่จะไปรบราฆ่าฟันกับช้าง ทำได้มากที่สุดก็เพียงแค่จุดประทัดไล่เท่านั้น
ทีมข่าวกาญจนบุรี