ที่กลุ่มสองข้างทางรถไฟ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครราชสีมา และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครราชสีมา
โดยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศมาตั้งแต่ปี 2548 โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม มุ่งสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยทั้งการคุมกำเนิด การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจังหวัดนครราชสีมา เป็น 1 ใน 20 จังหวัดต้นแบบ ที่ สสส. ให้ความสำคัญเร่งแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นจังหวัดนครราชสีมา
นายชาติวุฒิ กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ประกอบด้วย 1.พัฒนาระบบส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม 2.ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการ ในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น 3.พัฒนาระบบบริการสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร 4.พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น และ 5.ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ โดยให้ความสำคัญการพัฒนาระบบข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพื่อออกแบบกิจกรรมและหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงกับสถานการณ์และบริบทของแต่ละพื้นที่
“ปัจจุบันสถานการณ์การท้องในวัยรุ่นของจังหวัดนครราชสีมาดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2564 อัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 1.01 ต่อพันประชากร ลดลงจาก 1.16 ต่อพันประชากร ในปี 2562 สอดคล้องกับกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่มีอัตราคลอดอยู่ที่ 21.06 ต่อพันประชากร ในปี 2564 ลดลงจาก 30.8 ต่อพันประชากร ในปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงระบบบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องและปลอดภัย” นายชาติวุฒิ กล่าว
ดร.ปาณิสรา จันทรัตน์ นักพัฒนาชุมชน ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคมเทศบาลนครราชสีมา ในฐานะคุณครูอาสาผู้สอนเด็กด้อยโอกาสในกลุ่มสองข้างทางรถไฟ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กล่าวว่า กลุ่มสองข้างทางรถไฟเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 89 คน ใน 45 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย และรับจ้างทั่วไป ทำให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตตกต่ำ โดยเฉพาะเด็กในชุมชนต้องหยุดการเรียนการสอนเนื่องจากขาดรายได้ในครัวเรือน หันไปพึ่งพาติดยาเสพติด มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ที่สำคัญขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ เกิดเป็นแม่วัยรุ่นตั้งท้องที่มีครอบครัวตั้งแต่ตอนเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกว่า 20 คน
“การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในชุมชนริมสองข้างทางรถไฟ ได้ร่วมกับ สสส. ริเริ่ม “โครงการร้อยฝันสู่เด็กไทย...คืนกำไรต้นทุนชีวิต” มีกระบวนการทำงาน ดังนี้ 1.จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องและวิธีการคุมกำเนิดประเภทต่างๆ 2.จัดกิจกรรมและให้ความรู้สู่การปฏิบัติในการป้องกันตัวเองจากการถูกหลอกลวงและการถูกคุกคามทางเพศจากสื่อ และสถานการณ์ต่างๆ 3.พัฒนาช่องทางในการขอคำปรึกษาผ่านแอปพลิเคชัน ของขวัญ คลินิกบ้านเพื่อน และโรงพยาบาลใกล้บ้าน 4.จัดกิจกรรมค่ายจำลองสถานการณ์การแก้ไขปัญหาในขณะที่ถูกคุกคามทางเพศเพื่อสอนทักษะการป้องกันตัวให้เกิดทักษะและสามารถป้องกันตนเองจากสถานการณ์ต่างๆ ได้” ดร.ปาณิสรา กล่าว
นางสาวบุญช่วย นาสูงเนิน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยอัตราการคลอดลดลง แต่กลับเริ่มพบว่าเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ในจังหวัดนครราชสีมา มีการตั้งครรภ์ซ้ำเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 12.89 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.42 ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนให้คุมกำเนิดกึ่งถาวร (ยาฝังคุมกำเนิด) เพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันการท้องซ้ำ โดยในปี 2564 มีการคุมกำเนิด ร้อยละ 73.85 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.29 ในปี 2562 ความท้าทายของ จังหวัดนครราชสีมา คือการลดอัตราคลอดมีชีพในวัยรุ่นจาก 25 ต่อพันประชากร ให้เหลือ 12 ต่อพันประชากร