นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายภาพรวม ร้อยละ 100
ดังนั้น เพื่อให้การเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดความคล่องตัว รวดเร็ว และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี อันจะทำให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 100 ล้านบาท
โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้าง
– วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท
ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ที่จะให้มีการเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้
2.การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้าง
– การซื้อการจ้างด้วยวิธี e-bidding วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างสำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
– การซื้อการจ้างด้วยวิธี e-bidding วงเงินเกิน 100,000,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศ และเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ
– การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศ
และเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ
“การกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 100,000,000 บาท กำหนดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้อย่างคล่องตัว และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 กด 3 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว