สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิดงาน “ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ” โดยมีนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม ที่ ธนาคารออมสินภาค 8 สำนักงานชั่วคราว ถนนช้างคลาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มความแข็งแกร่งให้ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ตลอดจนการกระตุ้นสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล และทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการได้อย่างทั่วถึง
.
โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เกิดจากแนวคิดของท่านสุเชษฐ์ คำฟู ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 8 ที่ได้ประชุมร่วมกับเครือข่ายปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการจัดงานครั้งนี้ขึ้นมา จากการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาคีทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาพันธ์ SMEs ไทยจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ร่วมกับธนาคารออมสินภาค 8 โดยให้ความช่วยเหลือใน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างงานและฝึกอบรมอาชีพ การให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพ และการช่วยเหลือด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้แก่ธนาคาร
.
นายอาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหารออมสินในระดับภาค ระดับเขตทุกเขต เครือข่ายองค์กรพันธ์มิตร ตลอดจนคณะกรรมการทุกท่านที่ได้รวมกันขับเคลื่อนโครงการที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดเขียงใหม่ ให้บรรลุในเรื่อง การแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ขยายช่องรายได้ ด้วยเครือข่ายพันธมิตร และเศรษฐกิจนวัตกรรมสร้างสรรค์
.
โครงการที่น่าสนใจยิ่งภายในวันนี้คือบู้ธผ้าทอลายเนตรฤทัย จากกลุ่มผู้พิการทางสายตา อ.อมก๋อย เปิดตัวอย่างเป็นทางการ 14 กุมภาพันธ์ 2565 และมีการสาธิตการการถักทอผ้า “ด้วยใจแทนตา” โดยการสนับสนุนของธนาคารออมสินภาค 8 ซึ่งทางผศ.ไพโรจน์ วรพจน์พรชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรสิ่งทอและเครื่องประดับ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยธนาคารออมสินสนันสนุนด้านการตลาด สหภาพคนตาบอดจังหวัดเชียงใหม่และ กศน.อำเภอพร้าวในการถอดองค์ความรู้อัตลักษณ์ชุมชนตามภูมิสังคมเพื่อใช้เป็นข้อมูลการพัฒนาผ้าทอกะเหรี่ยงของกลุ่มฯ
.
ลวดลายนี้ออกแบบเป็นรูปดวงตา มีรูปหัวใจอยู่ตรงกลางแทนแก้วตา สื่อถึงความรัก ความเมตตา ความเอื้ออารีย์ของทุกๆคนที่มีต่อกลุ่มผู้บกพร่องทางสายตา และยังสื่อถึงความตั้งใจของกลุ่มผู้บกพร่องทางสายตาที่ใช้หัวใจแทนดวงตาในการทอผ้าอีกด้วย รวมถึงสีที่ย้อมก็เป็นออแกนนิกส์ธรรมชาติ โดยทางสมาพันธ์ฯ ก็ได้ประสานที่จะนำเครื่องเงินวัวลายผสมผสานการออกแบบ และผลิตเสื้อในอนาคตต่อไป