พาณิชย์ สานต่อธุรกิจแฟรนไชส์ สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งเป้าภายในปี 2565 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,600 ล้านบาท
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากแนวคิดของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ลูกจ้างในภาคธุรกิจถูกเลิกจ้าง ตกงาน รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลเป็นลูกโซ่สะเทือนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยให้ใช้ ‘ธุรกิจแฟรนไชส์’ เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาการว่างงานได้จริง โดยดูได้จากความสำเร็จของการจัดงาน ‘แฟรนไชส์สร้างอาชีพ’ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา สร้างผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ได้กว่า 5,800 ราย มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท เหนือสิ่งอื่นใด คือ รอยยิ้มและความหวังของประชาชนที่กลับมามีอาชีพ มีงาน มีรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวอีกครั้ง สัมผัสได้จากความตั้งใจเรียนรู้การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ และความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาอาชีพภายในงานฯ โดยผู้เข้าร่วมงานมีความตั้งใจที่จะนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสมกับความชอบและบุคลิกภาพของตนเองไปประกอบเป็นอาชีพตามทำเลที่ตั้งที่ได้กำหนดไว้ โดยทำการประเมินเบื้องต้นว่า แฟรนไชส์ที่ลงทุนจะสามารถสร้างผลกำไร เป็นอาชีพที่มั่นคงของตนเอง/ครอบครัว และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ‘แฟรนไชส์’ จึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางเข้าสู่แวดวงธุรกิจอย่างเต็มตัวของประชาชน
กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าภายในปี 2565 จะสร้างอาชีพให้ประชาชนผ่านระบบแฟรนไชส์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,600 ล้านบาท ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของ GDP ทั้งประเทศ ถือเป็นการใช้เป็นเครื่องมือในการ สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งในยามที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤตนี้