นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์และขยายช่องทางตลาดโอทอปตามแนวทางประชารัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมและผลักดันสินค้าโอทอปของไทยให้เป็นที่รู้จัก พร้อมขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลายเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด”
“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้เชิญภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศ จำนวน 24 หน่วยงาน 51 ราย ประกอบด้วย กลุ่ม Buyer / Trader / User จำนวน 14 บริษัท ได้แก่ 1) กลุ่มเซ็นทรัล 2) การบินไทย 3) คิงพาวเวอร์ 4) ซีพี ออลล์ 5) เซ็นทรัล ฟู๊ด รีเทล 6)เดอะมอลล์ กรุ๊ป 7) ตำรับไทยสมุนไพร 8) นารายภัณฑ์ 9) บางจากปิโตรเลียม 10) บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 11) สยามเจมส์ กรุ๊ป 12) สยามพิวรรธน์ 13) เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม 14) เอสซีจี แพคเกจจิ้ง และผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดผลิตภัณฑ์ จำนวน 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1) ศูนย์อบรมแพ็ทเทิร์นอุตสาหกรรม แพทเทิร์นไอที 2) สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย 3) สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน 4) สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย 5) สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) 6) สมาคมผู้ประกอบการสปาไทย 7) สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป 8) สมาคมสปาไทย 9) สมาคมสินค้าตกแต่งบ้าน และ 10) สมาคมออกแบบสร้างสรรค์ มาร่วมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์โอทอป รวมทั้งปัญหาของสินค้าโอทอปจากมุมมองของผู้ประกอบการและภาคเอกชน”
“ภาคเอกชนเห็นพ้องกันว่า 1) สินค้าโอทอปของไทยควรจะมีการพัฒนาให้มีรูปแบบเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้นโดยต้องเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นหลัก 2) การผลิตสินค้าต้องมีความต่อเนื่อง (เนื่องจากบางครั้งเมื่อสินค้าเริ่มติดตลาดและผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สินค้านั้นอาจสูญเสียตลาดและลูกค้าในอนาคตได้) 3) ผู้ผลิตต้องมีความเข้าใจในกลไกตลาดเป็นอย่างดี (ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และต้องประยุกต์ให้เข้ากับกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ผลิตสินค้าตามความต้องการของตนเองที่อยากจะผลิต) และ 4) ผู้ผลิตต้องสร้างวิสัยทัศน์ของความเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมจะพัฒนา ซึ่งเมื่อผู้ผลิตสินค้าโอทอป หรือผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งและเติบโตในระดับหนึ่งภาครัฐก็ควรที่จะผลักดันให้เข้าสู่แวดวงธุรกิจอย่างเต็มตัวโดยการสนับสนุนให้เป็นเอสเอ็มอี และมีความเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพมากยิ่งขึ้น”
“นอกจากนี้ โอทอปไทยควรได้รับการพัฒนายกระดับอย่างต่อเนื่อง คือ โอทอป 1-2 ดาว ควรยกระดับเข้าสู่ 3-5 ดาว และ โอทอประดับ 3-5 ดาว ก็ควรยกระดับสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งภาคเอกชนยินดีให้ความร่วมมือที่จะพัฒนาผู้ผลิตให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ และช่วยขยายช่องทางการตลาดสินค้าโอทอปให้เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยง่าย”
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมฯ จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนมาปรับแนวทางการพัฒนาสินค้าโอทอปของไทยและช่องทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ ได้กำหนดแผนงานสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนไว้แล้ว ตั้งแต่การคัดสรรกลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์โอทอป 3-5 ดาว โดยให้ความร่วมมือคัดสรรและให้คำแนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การจัดอบรมพัฒนาทักษะผู้ผลิต/ผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงกลยุทธ์การตลาด การสร้างตราสินค้า (แบรนด์) และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย”
“เบื้องต้นกรมฯ ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์โอทอปจากกลุ่มโอทอป 3-5 ดาว ปี 2559 โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ คัดสรรกลุ่มผลิตภัณฑ์โอทอปที่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบทางราชการ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการผลิตและความมุ่งมั่นที่จะรับการพัฒนา จำนวน 2,380 ราย (จาก 8,039 ราย) เข้าสู่การคัดสรรสู่ Best OTOP 77 Experience ผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มของใช้ ของที่ระลึก และกลุ่มสมุนไพรที่มิใช่อาหาร จังหวัดละ 1 ราย/กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 308 ราย ที่จะนำร่องการพัฒนาการตลาดและให้เข้าถึงตลาดอย่างยั่งยืน โดยจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับช่องทางการตลาดทั้ง ออฟไลน์ ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านจำหน่ายของที่ระลึก สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว และออนไลน์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ช) ช่องทางทีวี แคตตาล๊อค ตลอดจนการพัฒนาร้านค้าต้นแบบจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปเพื่อสามารถขยายเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ในรูปแบบของ “แฟรนไชส์ โมเดล” ต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ผลิตภัณฑ์โอทอป 3-5 ดาว มีจำนวนทั้งสิ้น 8,039 ราย แบ่งเป็น ระดับ 5 ดาว จำนวน 1,985 ราย (คิดเป็นร้อยละ 25) ระดับ 4 ดาว จำนวน 3,826 ราย (คิดเป็นร้อยละ 47) และ ระดับ 3 ดาว จำนวน 2,228 ราย (คิดเป็นร้อยละ 28) และสามารถจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์โอทอป ได้ดังนี้ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 2,745 ราย (คิดเป็นร้อยละ 34) กลุ่มอาหาร จำนวน 2,195 ราย (คิดเป็นร้อยละ 27) กลุ่มของใช้ของตกแต่ง จำนวน 1,970 ราย (คิดเป็นร้อยละ 25) กลุ่มสมุนไพรที่มิใช่อาหาร จำนวน 693 ราย (คิดเป็นร้อยละ 9) และ กลุ่มเครื่องดื่ม จำนวน 436 ราย (คิดเป็นร้อยละ 5)