ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
เสียงคนในพื้นที่จะนะ ปะทะ NGOs - ไอ้โม่งโรงไฟฟ้า
25 ก.พ. 2565

        คนทั่วไปคงได้รับรู้ข่าวคราวของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา มาบ้างแล้วว่า เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ริเริ่มและผลักดันให้เกิดขึ้นในภาคใต้ โดยให้ ศอ.บต.เป็นหัวหอก อีกทั้งการขับเคลื่อนโครงการนี้ มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ซึ่งต่างยกขบวนไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมีมติสั่งชะลอโครงการฯ เอาไว้ก่อน โดยมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) ตามเสียงเรียกร้องของ NGOs ท่ามกลางความงุนงงของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่

         แต่สำหรับคนใต้ และชาวสงขลา ทั้ง 10 อำเภอ โดยเฉพาะพี่น้องชาวอำเภอจะนะ ต่างให้ความสนใจ ติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้ อย่างใจจด ใจจ่อ เพราะมองว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ คือ ความหวังและอนาคตใหม่ ของพัฒนาภาคใต้ ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้คนในพื้นที่ เช่นเดียวกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (ESB)  และ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

        จากปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุค รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากการล้อมปราบผู้ประท้วงที่ อ.ตากใบ และ มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี รวมถึงการปล้นปืนจากค่ายทหารที่ จ.นราธิวาส รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับใช้ ควบคู่กับการนำหลักการ “การเมืองนำการทหาร ผนึกกับแนวทางสันติวิธี” มาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เป็นที่มาของโครงการพัฒนาต่างๆ ภายใต้การดำเนินการของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเพื่อพลิกมิติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิด โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชน หวังให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชายแดนใต้ในภาพรวม

         โครงการนี้ กำหนดพื้นที่พัฒนาพิเศษไว้ 3 จังหวัด ก่อนจะขยายมาสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ภายใต้ชื่อ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งจะมีการพัฒนา 4 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว 2. การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง 3.โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก และ 4.นิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยฝ่ายความมั่นคง และ ศอ.บต.ได้ชักชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าไปลงทุนทำโครงการ โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

           ด้วยเหตุนี้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ทีพีไอพีพี” ซึ่งมี นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ บิ๊กบอสเครือ “ทีพีไอ” ในฐานะประธานกรรมการฯ เห็นว่าบริษัทของตนมีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้เสนอตัวเข้าไปดำเนินการนิคมจะนะ ใน 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา จากนั้น ศอ.บต.ได้เข้าไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งจะมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) ควบคู่กันไป  

             หลังจากที่ ศอ.บต.ได้เข้าไปชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ให้ชาวอำเภอจะนะรับรู้ มีคนคัดค้านกลุ่มเล็กๆ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่สนับสนุน เพราะคาดหวังว่าจะทำให้เมืองจะนะ เติบโตแบบก้าวกระโดด ลูกหลานมีงานทำ ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น การค้าและรายได้ของประชากรในภาพรวมก็จะดีขึ้น อีกทั้ง ที่ผ่านมาเคยมีโครงการขนาดใหญ่ อย่างเช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และ โครงการโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผุดขึ้นมาก่อนแล้ว

              ซึ่งในช่วงแรกนั้น มี NGO กลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้าน ชุมนุมประท้วง อ้างว่าจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในคลองนาทับ อ.จะนะ รวมทั้งวิถีชีวิตประมงชายฝั่งสูญหายไป แต่เมื่อทั้งสองโครงการแล้วเสร็จ เปิดดำเนินการมานานนับ 10 ปี สิ่งที่ NGO เคยกล่าวอ้าง กลับไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น พิสูจน์ได้ว่าที่เคยกล่าวอ้างมานั้น ไม่เป็นความจริง

                แต่ การเกิดขึ้นของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เสมือนกับการไป “แหย่รังแตน” เนื่องจากจังหวัดสงขลา ถือได้ว่าเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของ องค์กรพัฒนาเอกชนในภาคใต้ ซึ่งจะรวมเครือข่ายประชาสังคม และ NGO ในภาคใต้ไว้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีคณาจารย์และนักวิชาการ ด้านสิ่งแวดล้อมบางคน ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมจะเป็นแนวร่วมคัดค้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่

                ขบวนการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในนามกลุ่ม NGO ในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น”  จึงเกิดขึ้น โดยมีแกนนำประกอบด้วย นายบรรจง นะแส นักอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย ซึ่งถือเป็น NGO ตัวพ่อ ในฐานะอดีตนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้ก่อตั้งเครือข่าย NGO ภาคใต้ และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ที่เคยก่อมวลชนคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และ โครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มาแล้ว อย่างถึงพริกถึงขิง ตามมาด้วย นายสมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ชาวตรัง ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.สตูล ในฐานะเครือข่ายประชาสังคมภาคใต้ และเป็นที่ปรึกษา กป.อพช.ใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการสร้างท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล และมีบทบาทบนเวทีภาคประชาสังคมในหลายพื้นที่

               นอกจากนี้ ยังมี นายรุ่งเรือง ระหมันยะ (บังนี) ชาวประมง บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ ในฐานะนายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ นายไกรวุฒิ ชูสกุล ชาวสตูล นักเคลื่อนไหว จากเครือข่ายปกป้องปากบารา จ.สตูล นายสมยศ โต๊ะหลัง ชาวสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ชาวพัทลุง เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย เคยร่วมต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าและท่าเรือ ในหลายพื้นที่, นายบัลยาน แวมะนอ นักกิจกรรม จาก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานีนางจันทิมา ชัยบุตรดี (มิเนาะ) ชาวสะกอม อ.จะนะ นายประยงค์ ดอกลำไย หนึ่งในคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) และที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) นายกิตติภพ​ สุทธิสว่าง อดีตเลขาธิการ กป.อพช.ใต้ นายเอกชัย อินสระทะ เครือข่าย กป.อพช.ใต้ และ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

                เป็นที่น่าสังเกตุว่า แกนนำส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ด้วยกระบวนการจัดตั้ง และยุทธวิธีสร้างแนวร่วม ที่สั่งสมประสบการณ์จากประท้วงภาครัฐในหลายกรณี ยุทธวิธี “ตีกลอง ร้องให้ดัง” สามารถสร้างปัญหาให้กับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่คล้อยตามว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะสร้างความหายนะ ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจะนะ อย่างที่พวกเขากำลังร้องป่าว

                ทั้งที่ความจริงแล้ว ชาวบ้าน รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่ต่างให้การสนับสนุน แต่ปรากฎว่าเสียงเรียกร้องของ “กลุ่มจะนะรักบ้านเกิด” และ “เครือข่ายจะนะอาสาเพื่อพัฒนาถิ่น” ซึ่งออกมาสนับสนุน และบอกกล่าวถึงความต้องการของชาวจะนะ กลับแผ่วเบา และถูกใส่ไคล้ว่า กลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรม เป็นเพียงมวลชนจัดตั้งของภาครัฐและเอกชน

                 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ลังเลไม่กล้าตัดสินใจ ท่ามกลางกระแสข่าวเล่าลือว่า มี “ไอ้โม่ง” ซึ่งเป็นทุนธุรกิจโรงไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งมากบารมีในหลายรัฐบาล หว่านเม็ดเงินจำนวนมากลงไปหลายทาง เพื่อต้องการล้มโครงการนิคม จะนะ เพราะถ้าผ่านออกมาได้ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ ซึ่งมีทุนและเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัย และจะผงาดขึ้นมา เป็นคู่แข็งที่น่ากลัวมากขึ้น

                   การเกิดขึ้นของกลุ่มคัดค้าน และการที่รัฐบาลให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) เสียก่อน แล้วค่อยพิจารณาใหม่ว่า โครงการนี้จะเดินต่อได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่การทำ SEA นี้ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและผิดหลักการ ที่น่าสนใจยิ่ง !!

                    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น เหตุใดชาวจะนะในพื้นที่ จึงพร้อมใจกันสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อีกทั้ง การชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ส่งผลกระทบไปถึงปัญหาความมั่นคงในพื้นที่อย่างไร และเหตุใดกลุ่ม BRN จึงแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น แถมยังดอดเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่จะนะ จนต้องถูกวิสามัญไป 3 ราย  ประเด็นเกล่านี้ต้องติดตามอ่านต่อในฉบับหน้า !!

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...