ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
DITP ฉลองรอบ 70 ปี ประกาศวิสัยทัศน์ 5 ปี
11 มี.ค. 2565

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ฉลองการสถาปนาครบรอบ 70 ปี เปิดวิสัยทัศน์การทำงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า ชูเป็นองค์กรมีความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570 ภายใต้การดำเนินการ 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดันผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยี เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า บริการด้วยนวัตกรรม สร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศและสินค้าไทย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 5 ปี เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี การสถาปนากรม ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้เผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่และอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถเดินหน้าภารกิจของกรมฯ ต่อไปได้ ท่ามกลางอุปสรรคที่เกิดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยได้ใช้แนวคิดเชิงกลยุทธ์ “ตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส” ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกษ์ใช้งานกับภารกิจของกรมฯ ในทุก ๆ ด้าน ทำให้สามารถนำพาองค์กรและผู้ประกอบการปรับตัวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ และช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกให้เติบโตและเป็นเครื่องยนต์หลักค้ำจุนเศรษฐกิจไทย ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) สำหรับแผนการขับเคลื่อนกรมฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้ตั้งวิสัยทัศน์ “ความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยเป็น 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570” ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายที่จะสื่อสารให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางถึงการเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย 

โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใน 5 ปี ให้อยู่ใน 5 อันดับแรก เปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในเอเชีย ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ท้าทายความสามารถขององค์กรเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจัยที่จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกการควบคุมจำนวนมาก 

ซึ่งกรมฯ เชื่อมั่นว่าการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะสร้างภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้
ทั้งนี้ ในการดำเนินการ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยความหมายของนวัตกรรม คือ การคิดค้นวิธีการทำงาน เครื่องมือใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเดิม หรือปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง รองรับยุค Digital Transformation ที่เทคโนโลยีนำการค้า ซึ่งจะมีผลต่อศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก 

เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานภายใน และการให้บริการภายใต้ภารกิจของกรมฯ ทั้งการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้า/บริการ และการพัฒนาช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร 
ในการเสริมและเกื้อหนุนให้ภาคธุรกิจได้พัฒนาไปอย่างก้าวไกล ด้วยหลัก “รัฐหนุน เอกชนนำ”
 
นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ 4 ข้อหลัก ในการเตรียมความพร้อมภารกิจของกรมฯ สำหรับอนาคต ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 
เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยจะมุ่งพัฒนาผู้ประกอบให้สามารถใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อาทิ การสื่อสารแบบ 5G , เทคโนโลยี Cloud , Big Data , Robotics , Machine Learning , Artificial Intelligence มาช่วยในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรอบรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับทักษะเดิม และสร้างทักษะใหม่ในการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล การเสริมสร้างองค์ความรู้ การปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อ (mindset) เพื่อการปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises) และด้วยแนวคิด “รักษ์โลก” ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular and Green) รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรอบรมต่างๆ ทั้งออฟไลน์และหลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบ E-learning เพื่อให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และนักศึกษา ในทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเดินหน้าเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก มุ่งเน้นการเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศในยุคดิจิทัล เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก โดยรูปแบบการทำธุรกิจระหว่างประเทศเปลี่ยนจาก B2B เป็น B2C มากขึ้น โดยช่องทางการซื้อ-ขายสินค้าผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Marketplace) ทำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายสามารถตกลงธุรกิจกันได้โดยตรง อีกทั้งยังขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆได้ง่ายขึ้น กรมจึงจะมุ่งเน้นส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนเพื่อขยายโอกาสให้ SMEs ไทยเข้าถึงผู้ซื้อ/ผู้บริโภคในต่างประเทศ การพัฒนากิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ (OBM) ระหว่างผู้ส่งออกกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ ให้เป็น Smart OBM โดยการนำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการจับคู่เจรจาธุรกิจให้มีความแม่นยำเพื่อสนับสนุนให้เกิดมูลค่าการซื้อขายมากยิ่งขึ้น และการนำนวัตกรรมการตลาดใหม่ๆมาปรับรูปแบบกิจกรรมของกรมให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงพัฒนาต่อยอดรูปแบบกิจกรรมที่กรมได้ปรับเปลี่ยนในช่วงการระบาดของโควิด-19 อาทิ งานแสดงสินค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้ง Virtual Trade Show
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม การสร้างแบรนด์ การออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ โดยกรมจะเดินหน้าบูรณาการการทำงานกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการต่อยอดสินค้านวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยเพื่อการค้าสู่ตลาดโลก เน้นการบ่มเพาะแบรนด์ ผู้ประกอบการ BCG เพื่อสร้าง BCG Heroes ในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูง อาทิ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์ และเครื่องสำอาง/ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นการใช้ soft power เป็นเครื่องมือในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย โดยการใช้ความเข้มแข็งของประเทศไทยด้านวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และเอกลักษณ์ความเป็นไทย (Thainess) มาสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าและบริการของไทย มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกอาหารไทย มวยไทย ดิจิทัลคอนเทนต์ (ละคร/ภาพยนตร์ไทย เกมส์ แอนิเมชั่นที่สอดแทรกความเป็นไทย) สปาไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย รวมถึงร้านอาหารไทย โดยเฉพาะร้านอาหาร Thai Select ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว
 
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยและสินค้าไทย (Country Image และ Product Image) โดยเดินหน้าโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ Thailand Trust Mark ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการชั้นนำของไทย/ D Mark / PM Award และการส่งเสริมแบรนด์ประเทศไทยด้านการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แคมเปญ BCG # Be the Change รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสินค้าอาหารของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก
“การขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยในอนาคต ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม และความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน แนวยุทธศาสตร์ 4 ข้อที่ผมกล่าวถึงข้างต้น เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับวาระแห่งชาติในการยกระดับการพัฒนาประเทศด้วย 2 โมเดลหลัก คือ โมเดล Thailand 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”นายภูสิตกล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...