นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงทิศทางแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อนำพากรุงเทพมหานครไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ในงาน The 2 Leaders’ Visions “เศรษฐกิจประเทศ - เศรษฐกิจเมือง” ที่จัดขึ้นที่พรรคฯ โดยได้กล่าวว่า
ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 ก่อนที่ตนมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งสิ้น แต่ประชาธิปัตย์ได้ผ่านจุดนี้มาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่รุ่งเรืองจนได้รับเลือกตั้งเกือบยกทีมก็มี หรือได้รับเลือกคนเดียวก็มี หลายคนปรามาสประชาธิปัตย์คงจะสูญพันธุ์ แต่ตนยังมั่นใจว่ามาถึงวันนี้เรากำลังเดินขึ้นและมั่นใจว่าพี่น้องชาวกรุงเทพฯ จะต้อนรับประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง เพราะประชาธิปัตย์กับชาวกรุงเทพฯ ผูกพันกันมายาวนานนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรค คนกรุงเทพฯ มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งประชาธิปัตย์ มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ตั้งแต่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ท่านพิชัย รัตตกุล ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายคนล้วนเป็นคนกรุงเทพฯ ดังนั้น คนกรุงเทพฯ กับประชาธิปัตย์จึงผูกพันกันมาเนิ่นนาน
เมื่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กำลังจะมาถึง ก็มีคนตั้งคำถามใหม่ว่า ประชาธิปัตย์จะส่งผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค ตนเป็นคนหนึ่งที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าประชาธิปัตย์ต้องส่ง ประชาธิปัตย์ไม่ส่งไม่ได้ เพราะเราผูกพันกับชาวกรุงเทพฯ และคนกรุงเทพฯ เลือกเรามาต่อเนื่องยาวนาน เพราะฉะนั้นเราต้องรับผิดชอบต่อคนกรุงเทพฯ การไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งผู้สมัคร ส.ก. คือการตัดทางเลือกของคนกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่ประชาธิปัตย์มีมติส่ง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ รวมกับเพื่อนผู้สมัคร ส.ก. 50 คน 50 เขต ซึ่งเป็นการนับ 1 ที่ถือว่าประชาธิปัตย์ได้ส่งทางเลือกที่ดีที่สุดทางเลือกหนึ่งให้กับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ได้พิจารณา
ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอีกว่า ประการที่ 1 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นั้น ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระ แต่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงหมายความว่า ในการเลือกตั้งรณรงค์หาเสียง รวมทั้งไปถึงภายหลังหากได้รับเลือกตั้ง “ดร.เอ้” ก็ไม่ได้มาคนเดียว แต่ยังมีหลังพิงสำคัญที่จะคอยทำงานร่วมกันและขับเคลื่อนกรุงเทพฯไปสู่ความสำเร็จ นั่นการมีหลังพิงที่เป็นสถาบันการเมืองที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศ ที่ชื่อว่าประชาธิปัตย์
“ก่อนตัดสินใจเลือก ดร.เอ้ ผมกับ ดร.เอ้ ได้นั่งคุยกัน และท่านองอาจด้วยในฐานะรองหัวหน้าพรรค ได้คุยกันบอกว่าถ้าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องทำงานร่วมกัน และต้องไม่บริหารราชการกรุงเทพมหานครโดยความรับผิดชอบเฉพาะกับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่ต้องรับผิดชอบต่อพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเพราะประชาธิปัตย์จะต้องรับผิดชอบต่อการบริหารงานราชการกรุงเทพฯ ของ ดร.เอ้ ต่อไปในอนาคต นี่คือความแตกต่างของผู้สมัครอิสระกับผู้สมัครที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง โดยเฉพาะสถาบันการเมืองที่ยั่งยืนที่ชื่อว่าประชาธิปัตย์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ประการที่ 2 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของประชาธิปัตย์นับตั้งแต่นี้ต่อไป ต้องไม่คิดแค่บริหารเมืองหลวงของประเทศและต้องไม่คิดแค่บริหารหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และต้องไม่คิดแค่การบริหารอภิมหานครกรุงเทพ หรือ กทม. เท่านั้น แต่จะต้องไปไกลไปกว่านั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ภารกิจของคนเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ต้องบริหารกรุงเทพฯ แบบ “Mini Thailand” จึงมี 3 ประการ
ประการที่ 1 ประชากรคนไทยทั้งประเทศมี 65 ล้านคน เป็นคนกรุงเทพฯ ตัวจริงที่มีทะเบียนบ้าน 5.5 ล้านคน ทำให้กรุงเทพฯ มีขนาดประชากร คิดเป็น 1 ใน 12 ส่วนของประชากรทั้งประเทศที่มีรวมกัน 77 จังหวัด
ประการที่ 2 ด้วยขนาดประชากรดังกล่าว ทำให้มีปัญหาหลายเรื่องที่ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องแก้ปัญหา และต้องบริหารจัดการในฐานะผู้ว่าฯ Mini Thailand ซึ่งเมื่อดูขนาดเศรษฐกิจของ กทม. จังหวัดเดียว คิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ประเทศ หมายความว่าขนาด GDP ประเทศ อยู่ที่กรุงเทพฯ ถึง 1 ใน 4 และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ของกรุงเทพฯ ก็เติบโตมากกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศอีกด้วย
เมื่อไปดูสัดส่วน GDP ของกรุงเทพฯ ก็พบว่าการที่เศรษฐกิจกรุงเทพขับเคลื่อนอยู่ได้ทุกวันนี้ ขึ้นอยู่กับ อันดับ 1 การค้า คิดเป็น 87 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ดังนั้นการค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งตั้งแต่คนตัวใหญ่จนถึงคนตัวเล็ก อันดับ 2 อุตสาหกรรม 13% มีเรื่องเกษตรไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นจากข้อมูลพื้นฐานดังกล่าว จึงถือว่าลมหายใจของเศรษฐกิจกรุงเทพฯ จึงเรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับการค้า 87% อุตสาหกรรม 13% ขณะที่เมื่อไปดู ตัวเลข Per Capita income หรืออัตรารายได้เฉลี่ยต่อหัว จะเห็นได้ชัดขึ้นว่ารายได้ของคนกรุงเทพฯ เฉลี่ย มากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศ 3 เท่า แม้จะฟังแล้วเหมือนดีว่าคนกรุงเทพฯ รวย แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป็นตัวเลขถัวเฉลี่ย แต่เมื่อดูตัวเลขลึกลงไปพบว่า คนกรุงเทพฯ ตัวจริงที่เป็นคนจน มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี ที่ต้องรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีมากกว่า 5 แสนคน ตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ว่าฯ กทม. นอกจากรัฐบาลที่ต้องแก้ไข ผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องคิดเป็นภาระของตัวเองด้วยเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้พี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์จากนี้ไป จึงต้องคิดเรื่องการบริหารกรุงเทพมหานคร ให้เป็นการบริหารแบบ Mini Thailand
ประการที่ 3 การบริหารกรุงเทพมหานครของยุคประชาธิปัตย์ ยุค “ดร.เอ้” จากนี้ไป จึงต้องเกิดนวัตกรรมใหม่ทางการบริหารต้องขึ้นอย่างน้อย 3 นวัตกรรม
นวัตกรรมตัวที่ 1 ครม. กรุงเทพฯ ต้องเกิด ไม่ใช่การบริหารแบบเดิมที่มี ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ด้านบริหาร ด้านโยธา ด้านสาธารณสุข ด้านศึกษา ยุทธศาสตร์ และที่ปรึกษา แต่กรุงเทพมหานคร ยุคอุดมการณ์ทันสมัย ต้องมี ครม. กรุงเทพ เกิดขึ้น เพื่อบริหาร Mini Thailand ที่ชื่อว่ากรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วย รัฐมนตรีเศรษฐกิจกรุงเทพมหานครต้องเกิด เพื่อรับผิดชอบเศรษฐกิจของชาวกรุงเทพฯ ตั้งแต่คนตัวใหญ่ที่ทำธุรกิจค้าขาย 87 % ของ GDP คนตัวกลางอุตสาหกรรม 13% ไปจนถึงคนตัวเล็ก 5 แสนกว่าคนที่รายได้ต่ำกว่าแสนต่อปี การที่ ดร.เอ้ ประกาศวิสัยทัศน์ให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองสวัสดิการต้นแบบของอาเซียน ดังนั้น รัฐมนตรีสวัสดิการกรุงเทพฯ ต้องเกิด เพื่อขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ที่มีความชัดเจน กว่าการมีแค่รองผู้ว่าฯ ด้านโยธา ด้านศึกษา ด้านสาธารณสุข
นวัตกรรมตัวที่ 2 ต้องเกิด กรอ. กรุงเทพฯ เนื่องจากเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่คิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศ และขับเคลื่อนด้วยการค้ากับอุตสาหกรรม ดังนั้นเอกชนจึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ซึ่ง กรอ. กรุงเทพฯ จะเป็นเวทีให้ผู้ว่าฯ กทม. ครม.กรุงเทพฯ ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ร่วมกับเอกชน ตั้งแต่คนตัวใหญ่ถึงคนตัวเล็กไม่เว้นแม้แต่คนจนเมือง
นวัตกรรมตัวที่ 3 คนเป็นผู้ว่ากทมในยุคอุดมการณ์ทันสมัยของประชาธิปัตย์ที่มีตนเป็นหัวหน้าพรรคต้องไม่มองแค่ในกรุงเทพมหานคร เพราะกรุงเทพฯ วันนี้ได้เชื่อมต่อเหมือนเป็นเนื้อเดียวกับปริมณฑล มีประชากรที่เคลื่อนเช้าเย็นกลับมาจากนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งสาธารณูปโภค สาธารณูปการ มีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อไปถึงปริมณฑล เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งไฟฟ้า-ประปาต่อข้ามเขตได้โดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องทำงานร่วมกัน ทั้งรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และต้องทำงานร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และกลไกภาครัฐ ไฟฟ้า ประปาในปริมณฑลด้วย ทั้งหมดต้องสอดประสานกัน ต้องคิดวางแผนขุดทีเดียวไม่ต้องขุด 3 รอบ 4 หน่วยงาน ขุด 4 รอบ เพื่อไม่ให้สุดท้ายแล้วกรรมมาตกกับคนกรุงเทพฯ
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคณะกรรมการหรือทิศทางการบริหารกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ Bangkok แต่ต้องเป็น Greater Bangkok ที่รวมปริมณฑลเข้ามาไว้ด้วยกัน อาจเรียกว่าเป็นคณะกรรมการบูรณาการการบริหารกรุงเทพมหานครกับปริมณฑล เพื่อเป็นกลไกในการที่จะทำประโยชน์ให้กับชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลร่วมกัน
“ประชาธิปัตย์ต้องคิดไกลกว่าปกติ คิดไกลกว่าสิ่งที่ได้คิดได้ทำมาในอดีต นี่คือ 3 นวัตกรรมในการบริหารกรุงเทพฯของประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ ครม. กรุงเทพฯ กรอ. กรุงเทพฯ และมาถึง คณะกรรมการ เกรทเทอร์แบงค็อก เพื่อให้กรุงเทพฯ บริหารรวมปริมณฑลด้วย นี่คือ 3 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ และภายใต้การบริหารราชการกรุงเทพฯ ของ ดร.เอ้ ผมมั่นใจว่าถ้า ดร.เอ้ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม “ดร.เอ้” ทำได้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ทั้งนี้งาน The 2 Leaders’ Visions “เศรษฐกิจประเทศ - เศรษฐกิจเมือง” จัดโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้แนวคิด The 2 Leaders’ Visions เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของ 2 บุคคลสำคัญของพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ในนามพรรค และรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจเมือง โดยทีมนักธุรกิจ อาทิ นายธเนศ วรศรัณย์ กก.ผจก.บริษัท ไทยเจมส์มาร์ทดีเวลอปเมนท์ จำกัด ดร.สิตา สัมฤทธิ์ รอง ผอ. Governance and Conflict Mitigation, USAID นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธาน กก.บห. และผู้ก่อตั้งบริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ เจ้าของนวัตกรรมหุ่นยนต์ดินสอ นำการสนทนาโดย ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์