กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศของประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2560 ว่า ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณน้ำ ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทานยังพบว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บางแห่ง ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคเกษตรได้ แต่ยังคงจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ได้ปกติ
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในฐานะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรหลักในเบื้องต้นที่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง จึงแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทั้งทางด้านการเตรียมการก่อนเกิดภัยแล้ง ขณะเกิดภัยแล้ง และหลังเกิดภัยแล้ง
สำหรับการเตรียมการก่อนเกิดภัยแล้งนั้น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย สำรวจภาชนะเก็บกักน้ำและเครื่องมือ เช่น รถยนต์บรรทุกน้ำ รถยนต์ดับเพลิง เครื่องสูบน้ำให้มีความพร้อม ในการใช้ จัดหา ซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำ ภาชนะเก็บน้ำ ฝายต้นน้ำลำธาร เช่น การขุดลอกคู คลอง กำจัดวัชพืช ในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำ และจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ รณรงค์ให้ประชาชนสำรองน้ำไว้ใช้ รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดทำแนวป้องกันไฟป่า อบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่า เร่งรัดการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน รวมถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้านให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันไฟป่า และวางแผนการแจกจ่ายน้ำในพื้นที่
ทางด้านการดำเนินการขณะเกิดภัยแล้ง ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาน้ำสะอาด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก แล้วจึงพิจารณาให้การช่วยเหลือประชาชนในด้านการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมตามความเหมาะสม ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร หากประชาชน ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการจัดหาน้ำสำหรับพืชผลการเกษตรที่ได้เพาะปลูกไปแล้วนั้น ก็ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตของประชาชนเกิดความเสียหาย แต่ให้พิจารณาน้ำต้นทุน ที่จะต้องเตรียมไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูร้อนเป็นสำคัญ ส่วนการดำเนินการหลังเกิดภัยแล้ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งสำรวจความเสียหายจากภัยแล้ง ทั้งในภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่อย่างเร่งด่วนต่อไป