ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ตามที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 127 ราย และมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 44,569.83 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 5 เดือน (เดือนภาษีกันยายน 2564 – เดือนภาษีมกราคม 2565) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,120.03 ล้านบาท” ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแยกตามประเภทแพลตฟอร์มและบริการสะสม 5 เดือน (เดือนภาษีกันยายน 2564 – เดือนภาษีมกราคม 2565)
ประเภทแพลตฟอร์มและการบริการ
มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์
(ล้านบาท)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ล้านบาท)
บริการโฆษณาออนไลน์ 28,013.66 1,960.96
บริการขายสินค้าออนไลน์ 11,982.82 838.83
บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ฯลฯ 4,023.06 281.69
บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง 367.67 25.76
บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ 182.62 12.79
รวม 44,569.83 3,120.03
หมายเหตุ : ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2565
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดเก็บภาษี e-Service จากผู้ประกอบการต่างประเทศหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 2564 – เดือนภาษีมกราคม 2565 จำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 5 เดือนนั้น ทำให้คาดได้ว่าภายใน 1 ปี ทางกรมสรรพากร จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000 – 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ไว้แต่เดิมว่าจะจัดเก็บได้ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท”
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “การเก็บภาษี e – Service นอกจากเป็นการช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ด้วยการนำภาษีมาสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น”
สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161