ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
สนค. มั่นใจรถ EV ช่วยขับเคลื่อน ศก.BCG
18 มี.ค. 2565

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การใช้รถ EV มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลกจากกระแสการให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวแปรสำคัญให้นานาประเทศออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยเห็นชอบให้ BCG (Bio-Circular-Green) Economy Model เป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้ รถ EV เป็นการใช้พลังงานสะอาดและเป็นหนึ่งในมาตรการในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก

โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถ EV รวมทั้งการขยายฐานการผลิตในประเทศ โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.65 ครม.ได้เห็นชอบแพ็กเกจมาตรการสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือแพ็กเกจรถ EV ครอบคลุมรถ 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ โดยมีมาตรการยกเว้น/ลดอากรขาเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และให้เงินอุดหนุน ตั้งแต่ปี 2565-2568 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถ EV มากขึ้น รวมทั้งมีเป้าหมายให้ไทยสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้เอง และสามารถแข่งขันได้ ตลอดจนรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก

นอกจากมาตรการสนับสนุนการใช้รถ EV แล้วยังมีมาตรการจูงใจและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อทดแทนการนำเข้า อาทิ การลดอากรชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในช่วง ปี 2565 – 2568 อาทิ แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) On-Board Charger PCU inverter DC/DC Converter และ Reduction Gear รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน ภายในปี 2573 ทั้งนี้ในปี 2564 ยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 100% มีจำนวน 3,994 คัน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2560-2564 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 39.49% และในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออก 89,561 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศ 5 อันดับแรก ที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เบลเยี่ยม สัดส่วน 13.38% สหราชอาณาจักร สัดส่วน 12.73% เยอรมนี สัดส่วน 9.55% สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 9.49% และนอร์เวย์ สัดส่วน 8.78% สำหรับไทย มีสัดส่วน 0.32% ส่งออกอันดับที่ 31 ของโลก และอันดับที่ 5 ของเอเชีย รองจาก เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 288 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 271.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และในปี 2560-2564 การส่งออกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 218.64%

สำหรับการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยปี 2564 มีมูลค่า 38,290 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,203,265 ล้านบาท มีสัดส่วน 7.44% ของ GDP ส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องยนต์สันดาป

นายรณรงค์ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษ จะมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมผู้ใช้ยานยนต์ และต่ออุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของโลก ในการหันมาให้ความสำคัญต่อรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์มากยิ่งขึ้นในอนาคต ไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน สามารถสร้างงานและสร้างรายได้ให้ประเทศ นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของยานยนต์แห่งอนาคต จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...