โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย จาก 9 ราย มูลค่าการซื้อขาย เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาท จาก 240 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ในธุรกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 1.14 แสนล้านบาท จาก 9.6 พันล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย จาก 1.7 แสนราย ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถือว่าสินทรัพย์ดิจิทัล คริปโตเคอร์เรนซี เป็นผู้เล่นรายใหม่นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นทางเลือกในการระดมทุน นอกเหนือจากตลาดหุ้น ซึ่งเชื่อว่าการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปคือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไทยยังขาดในเรื่องนี้ หากมีการพัฒนาในส่วนนี้อย่างจริงจังจะเป็นโอกาส
สำคัญสำหรับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปกติใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน มาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลแทนได้ รวมถึงต้องมีการพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต โดยเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ต้องก้าวไปด้วยกัน มีเรื่องอะไรที่ติดขัดต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมที่จะพูดคุยและแก้ปัญหาให้ภาคดิจิทัลทั้งหมด
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของทุกคน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีธนาคารพาณิชย์รวมอยู่ด้วย ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลมีโอกาสและความเสี่ยง ดังนั้น ธปท. พร้อมสนับสนุนการสร้างความยืดหยุ่นในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลในโลกดิจิทัลมาพัฒนานวัตกรรม บริการต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล คือการเก็งกำไรในสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าประโยชน์ในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่มากกว่า 1.5 พันชนิด บางเหรียญมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันในระยะยาว
ขณะเดียวกัน มีความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ความเสี่ยงที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกนำไปใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน และความเสี่ยงที่จะมีต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ดังนั้นจึงต้องดูแลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“ถ้าเสี่ยงแล้วห้ามทั้งหมดคงไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจการเงินในอนาคต หาก ธปท. เห็นว่ากลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่คุ้มค่า ดูแลลูกค้าอย่างเหมาะสม ธปท. ก็พร้อมจะปลดรั้วออกไป” นางรุ่ง กล่าว