นางอภิรดี ตันตราภรณ์เปิดเผยว่า ในช่วงการเดินทางเยือนสหพันธรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม- 1 เมษายน 2560 ได้มีโอกาสหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี (นายมาเทียส มัคนิก) ณ กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี ซึ่งเยอรมนีเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของไทยในสหภาพยุโรป มีความสัมพันธ์อันดีและยาวนานในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและสังคม โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในสาขาที่เป็นจุดแข็งของทั้งสองประเทศ
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญชวนให้นักธุรกิจเยอรมนีมาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor:EEC) ที่ไทยมุ่งสร้างให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ทันสมัยของอาเซียนโดยไทยมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางถนน ทางราง ทางเรือ และทางอากาศ แผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และแผนการพัฒนาเมืองใหม่ พร้อมทั้ง มีมาตรการดึงดูดการลงทุนที่รัฐบาลพร้อมให้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในสาขาที่เยอรมนีมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เน้นการวิจัยและพัฒนา อาทิ นวัตกรรมด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่จะพัฒนา พร้อมทั้ง เน้นย้ำจุดแข็งของไทยที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคอาเซียน และเป็นประตูไปสู่ประเทศในอาเซียนและเอเชีย ซึ่งเยอรมนีสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเป็นแหล่งวัตถุดิบ และแรงงาน ขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานก็เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และเป็นจุดหมายแรกของนักลงทุนเยอรมัน พร้อมทั้งย้ำว่ารัฐบาลเยอรมนีให้การสนับสนุนภาคเอกชนของเยอรมนีอย่างเต็มที่ในการพิจารณาขยายการลงทุนในไทยในสาขาที่เยอรมนีมีความชำนาญ อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโครงสร้างพื้นฐาน
ในปีที่ผ่านมา (ปี 2559) ไทยและเยอรมนีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 365,600 ล้านบาท โดยไทยส่งออกประมาณ 157,500 ล้านบาท นำเข้าประมาณ 208,100 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าเยอรมนีประมาณ 50,500 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทยได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเยอรมนีได้แก่ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ด้านการลงทุน ปัจจุบันเยอรมนีลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (รองจากลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์)
“เยอรมนีเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่และทันสมัยของโลก หากพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ของอาเซียน รวมทั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย จะส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคเอเซียสามารถส่งออกไปจีนและตลาดโลกต่อไป” นางอภิรดี กล่าว